5) บุคคลคุณภาพแห่งปี 2023 ด้านเด็กและเยาวชน
นางสาววาสนา เก้านพรัตน์ (อายุ 56 ปี)
ผู้อุทิศตนเพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน
1. หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน
1. ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
2. ประธานเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย
3. กรรมการและเลขานุการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
4. อนุกรรมการในคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ
5. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน แก้ไขและปราบปรามการค้ามนุษย์
6. วิทยากรเผยแพร่ความรู้และพัฒนาทักษะให้เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงาน
2. ประวัติการศึกษา
พ.ศ. 2534 ปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. 2544 ปริญญาโท คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3. ประวัติการทำงาน
พ.ศ. 2534 นักกฎหมาย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองสิทธิเด็ก
ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองสิทธิเด็ก
พ.ศ. 2555 ประธานเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย (48 องค์กรสมาชิก)
ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
การทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม
· กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ 2 วาระ
· อนุกรรมการในคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็ก
· อนุกรรมการในคณะอนุกรรมการพัฒนาศักยภาพพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองเด็ก
· อนุกรรมการในคณะอนุกรรมการประเมินและติดตามผลการคุ้มครองเด็ก
· อนุกรรมการในคณะอนุกรรมการให้คำปรึกษาและพัฒนาการปฏิบัติงานสหวิชาชีพ
· กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
· อนุกรรมการขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ
· อนุกรรมการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
· ประธานคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญระดับชาติด้านการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้เสียหาย
· กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
4. นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน
· มีชีวิตที่สามารถช่วยเหลือเด็กให้สามารถเข้าถึงและได้รับสิทธิตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
· พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อสามารถริเริ่มงานใหม่ๆในการทำงานเพื่อเด็กและสังคม
· พัฒนาศักยภาพให้บุคคลแวดล้อมเด็ก ได้แก่ ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน สามารถส่งเสริมพัฒนาและปกป้องคุ้มครองเด็ก
· พัฒนาศักยภาพให้เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำหน้าที่ในการช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก
· ส่งเสริมสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีเพื่อเด็กสังคมและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี
5. ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับจากผู้เกี่ยวข้องทำให้ได้รับโอกาสและความร่วมมือจากผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารในระดับนโยบายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก สังคม และกำลังดำดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมซึ่งมีความสำคัญต่อทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ ฯลฯ
6. ทรรศนะต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพชีวิต นักวิทยาศาสตร์ศึกษาวิจัยคิดค้นและพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งในเรื่องอาหาร ยา อาหารเสริมฯ เทคโนโลยีทางการแพทย์ การคิดค้นเครื่องมือในการตรวจรักษา เทคโนโลยีเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย อุปกรณ์เครื่องใช้ที่สามารถอำนวยความสะดวกได้ดีกว่าในอดีต ขนาดเล็กประหยัดพลังงาน เทคโนโลยีการใช้พลังงานจากธรรมชาติ เช่น แสงแดด ลม เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม เช่นการกำจัดขยะ การบำบัดน้ำเสีย การป้องกันแก้ไขมลพิษสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
นักวิทยาศาสตร์มีความรับผิดชอบเพราะการคิดค้นในเรื่องใดใช้เวลาในการคิดค้น ทดลองเพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่คิดค้นเป็นประโยชน์ แม้มีผลกระทบในทางลบก็จะระบุไว้ เช่น ยาบางชนิดมีผลข้างเคียง มีข้อห้ามไม่ให้รับประทานเกินขนาดและระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งในส่วนนี้มีความเห็นว่าการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจอาจไม่เพียงพอซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน นอกจากนี้การคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ในบางเรื่องเป็นประโยชน์ต่อผู้มีกำลังซื้อ ผู้มีรายได้น้อยอาจไม่ได้รับโอกาสจากวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีที่มีการคิดค้นใหม่ ดังนั้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากรัฐ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและสามารถได้รับประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความก้าวหน้า มีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เคยเป็นประโยชน์อย่างมากในขณะหนึ่ง อาจจะมีสิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์มากกว่าและมีผลกระทบทางลบน้อยกว่าหรือไม่มีผลกระทบเลย ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องควรสื่อสารสร้างความเข้าใจให้ประชาชน สิ่งใดที่เป็นอันตรายควรยกเลิกอย่างรวดเร็วและมีการติดตามว่ามีการบังคับใช้ในการยกเลิกอย่างจริงจังเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน นอกจากนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควรคิดค้นในสิ่งที่จะส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่อยู่ในภาวะที่พึ่งพารัฐหรือผู้อื่น
7. กิจการอันเป็นคุณประโยชน์เพื่อสังคม สาธารณกุศล
คุณวาสนา เก้านพรัตน์ เริ่มทำงานที่มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กในตำแหน่งนักกฎหมาย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือคุ้มครองเด็ถูกกระทำความรุนแรง ถูกแสวงหาประโยชน์เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทั้งในรูปแบบถูกบังคับค้าประเวณีและบังคับใช้แรงงาน ซึ่งเป็นทั้งเด็กไทยและเด็กต่างชาติ การช่วยเหลือคุ้มครองดำเนินการตามกระบวนการคุ้มครองเด็ก เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสอบติดตาม การสืบค้นข้อเท็จจริง การคุ้มครองสวัสดิภาพ การฟื้นฟูเยียวยา การส่งเสริมพัฒนา การช่วยเหลือทางกฎหมาย การคืนสู่สังคม โดยทำงานร่วมกับสหวิชาชีพซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม
ต่อมาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองสิทธิเด็กให้คำแนะนำและกำกับดูแลการทำงานของพนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็ก นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาและนักกฎหมาย ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ระยะเวลากว่า 32 ปีที่ทำงานปกป้องคุ้มครองเด็ก นอกจากการทำงานภายในหน่วยงานแล้วยังเสียสละอุทิศตน ให้คำปรึกษาบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมอีกด้วย ที่สำคัญ ได้แก่
ภารกิจในการสนับสนุนการปกป้องคุ้มครองเด็ก เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ 2 วาระ ปัจจุบัน ยังเป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ
ภารกิจสนับสนุนการป้องกัน แก้ไขและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน แก้ไขและปราบปรามการค้ามนุษย์
ภารกิจในการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองเด็ก และป้องกันและปราบการค้ามนุษย์ โดยนำความรู้และประสบการณ์ในการช่วยเหลือคุ้มครองเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงและผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ไปพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขั้นตอนในกระบวนการช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก นอกจากนี้ ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรการคุ้มครองเด็ก และคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาให้เจ้าหน้าที่และประชาชนในระดับตำบลมีความรู้และเข้าใจเรื่องการส่งเสริมพัฒนาและปกป้องคุ้มครองเด็ก
นอกจากนี้ ยังเป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้และพัฒนาทักษะให้เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงาน โดยกระบวนการอบรมเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เข้าอบรม หัวข้อการฝึกอบรม ได้แก่
· อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กโดยเชื่อมโยงกับกฎหมายและและมาตรการภายในประเทศ
· อบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546
· อบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550
· อบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551
· อบรมผู้ปฏิบัติงานสหวิชาชีพและเครือข่ายในการคุ้มครองเด็ก
· อบรมผู้ปฏิบัติงานสหวิชาชีพในการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
· การคุ้มครองเด็กในกระบวนการยุติธรรม
· การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองเด็กระดับตำบล
ในปี พ.ศ. 2555 เป็นผู้ริเริ่มหารือองค์กรต่างๆที่ทำงานด้านสิทธิเด็ก เพื่อจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งทำงานด้านสิทธิเด็ก ต่อมามีได้มีการรวมตัวเป็นเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกัน ตลอดจนให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ในการดำเนินงานให้เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (United Nations Convention on the Rights of the Child: UNCRC) พิธีสารเลือกรับ (Optional Protocols: OPs) ที่เกี่ยวข้องและตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และได้รับการยอมรับจากสมาชิกเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทยกว่า 40 องค์กร และคุณวาสนาได้รับเลือกเป็นประธานเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน
8. ความภาคภูมิใจและรางวัลเกียรติยศที่ได้รับ
รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ
· ได้รับโล่รางวัลผู้เสียสละเพื่อสังคม ปี พ.ศ. 2566 โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์
· ได้รับโล่เกียรติยศประจำปี พ.ศ. 2565 ประเภทศิษย์เก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
· รางวัลบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี พ.ศ. 2562 โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
· รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2559 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
· ได้รับคัดเลือกเป็นบุคคลที่มีผลงานดีเด่นด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ.2556 โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
· ได้รับคัดเลือกเป็นนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น ประเภทผู้ปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ประจำปี พ.ศ.2551 โดยมูลนิธิศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์