โครงการแข่งขัน
สุดยอดฝีมือโทรคมนาคมและไอซีทีเทิดพระเกียรติ
ที่มา
โครงการ “ค้นหาสุดยอดฝีมือโทรคมนาคมและไอซีทีเทิดพระเกียรติ” จัดขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 และเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เป็นการทำงานบูรณาการร่วมกันระหว่างองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างโทรคมนาคม มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.) คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการเฉลิมพระเกียรติ มูลนิธิ 5 ธันวามหาราช สถาบันวิชาการทีโอที บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท จี เอเบิล จำกัด เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับวิชาชีพด้านโทรคมนาคมและไอซีทีของประเทศให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล เพื่อส่งเสริมอาชีพนี้ให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในมาตรฐานวิชาชีพ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ได้ขยายกลุ่มเป้าหมาย โดยเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่และที่จบการศึกษาไปแล้ว ได้มีเวทีทดสอบความรู้ ความสามารถ ทักษะ และทัศนคติ ตามระดับมาตรฐานวิชาชีพสาขาโทรคมนาคมและไอซีที เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานในสายอาชีพนี้ การจัดแข่งขันทุกปีจะมีการปรับเปลี่ยนสาขาการแข่งขัน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป รวมถึงช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายของภาครัฐ เพื่อให้การพัฒนาฝีมือแรงงานของประเทศมีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการทำความดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและร่วมเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ในฐานะ พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย และเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
กลุ่มเป้าหมาย
โครงการ ค้นหาสุดยอดฝีมือโทรคมนาคมและไอซีทีเทิดพระเกียรติ เป็นเวทีจัดการแข่งขันที่เปิดกว้างให้กับ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ที่ทำงานในสายอาชีพด้านโทรคมนาคมและไอซีที และประชาชนทั่วไปที่สนใจ โดยไม่จำกัดเพศ วัย วุฒิการศึกษา อาชีพ ไม่มีค่าใช้จ่ายในการสมัครแข่งขัน และครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ ซึ่งในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา โครงการแข่งขันสุดยอดฝีมือโทรคมนาคมและไอซีทีเทิดพระเกียรติ ครั้งที่ 3 - ครั้งที่ 13 (ปี พ.ศ. 2553 - 2563) มีนิสิตและนักศึกษาจากสถาบันศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมแข่งขัน จำนวนไม่น้อยกว่า 28 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ, มหาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (วิทยาเขตอุเทนถวาย), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (วิทยาเขตจักรพงษ์ภูวนาถ), มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ (SBAC), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (วิทยาเขตภาคใต้), มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยราชมงคลพระนคร, มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์, มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นต้น
เมื่อถึงยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น การจัดแข่งขันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงมีนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้ามาร่วมแข่งขัน และหลายคนได้คว้ารางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศในสาขาที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมด้านนี้
สำหรับปี พ.ศ. 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ได้ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ ทางราชการได้ประเมินว่ามีแนวโน้มที่จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้ออกมาตรการควบคุมและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางและการรวมกลุ่มของบุคคลอย่างรัดกุม ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เป็นต้นมา ซึ่งมีผลต่อรูปแบบการจัดแข่งขันเป็นอย่างมาก ดังนั้น คณะกรรมการจัดการแข่งขันจึงเห็นควรให้ งดการจัดแข่งขัน โครงการค้นหาสุดยอดฝีมือโทรคมนาคมและไอซีทีเทิดพระเกียรติ ประจำปี 2564 และคาดหวังว่าหากปีหน้าสถานการณ์คลี่คลาย จะได้ดำเนินการจัดแข่งขันต่อไป
ภาพโปสเตอร์โครงการแข่งขัน
สุดยอดฝีมือโทรคมนาคมและไอซีทีเทิดพระเกียรติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 - 2563