2) บุคคลคุณภาพแห่งปี 2023 ด้านเทคโนโลยี
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ (อายุ 63 ปี)
ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
1. หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน
1. ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
2. กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค)
3. ประธานกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ
4. แพทย์และอาจารย์แพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาวิชาโรคหัวใจ (Cardiology) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
2. ประวัติการศึกษา
· แพทย์เฉพาะทาง-การสวนหัวใจเพื่อวินิจฉัยและรักษา Hospital of the Good Samaritan Los Angeles, Los Angeles, California, United State of America (พ.ศ. 2535)
· แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์ Kaiser Permanente Medical Center, Los Angeles, California, United States of America (พ.ศ. 2534)
· แพทย์ประจำบ้าน Los Angeles Country University of Southern California Medical Center, Los Angeles, California, United State of America (พ.ศ. 2531)
· แพทย์ฝึกหัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· ปริญญาตรี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2526)
· ประกาศนียบัตรโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) Director Accreditation Program (DAP) รุ่น 145/2018
3. ประวัติการทำงาน
ประวัติรับราชการ
· รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
· แพทย์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
· อาจารย์สอนนักเรียนแพทย์ สาขาวิชาโรคหัวใจ (Cardiology) แพทย์ประจำบ้าน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
· แพทย์โรคหัวใจ ได้รับวิทยฐานะ American Board, Kaiser Permanente Medical Center, Los Angeles, California, United States of America
· พ.ศ. 2535-ปัจจุบัน : แพทย์และอาจารย์แพทย์ สาขาวิชาโรคหัวใจ (Cardiology) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
· ผู้เชี่ยวชาญ วิทยากรบรรยายพิเศษในการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดแดง โรคหัวใจ
· ผู้เขียนบทความทางวิชาการและบทความด้านสุขภาพ เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดแดง โรคหัวใจ
ประวัติการทำงานด้านการเมือง
· พ.ศ. 2558-2562 ประธานคณะอนุกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการสาธารณสุขสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
· พ.ศ. 2557-2562 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
· พ.ศ. 2557-2562 กรรมการ คณะกรรมาธิการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
· พ.ศ. 2557-2562 กรรมการ คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ประวัติการทำงานในภาครัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และสังคม
· พ.ศ. 2564-ปัจจุบัน กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
· พ.ศ. 2565-ปัจจุบัน ประธานกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อ ประโยชน์สาธารณะ
· พ.ศ. 2563-ปัจจุบัน กรรมการ องค์การเภสัชกรรม
· พ.ศ. 2562-ปัจจุบัน กรรมการอิสระ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
· พ.ศ. 2561-ปัจจุบัน กรรมการอิสระ ประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน, บมจ. โรงพยาบาลพระรามเก้า
· พ.ศ. 2562-2563 รองประธานกรรมการ กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน และประธานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ, บมจ. สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์
· พ.ศ. 2558-ปัจจุบัน กรรมการ บริษัท พฤกษ์สุขสบาย จำกัด
· พ.ศ. 2555-ปัจจุบัน กรรมการ บริษัท สรณ คาร์ดิโอโลยี่ แอนด์ แอสโซซิเอท จำกัด
· พ.ศ. 2535-ปัจจุบัน แพทย์สาขาวิชาโรคหัวใจ คณะแพทย์ศาสตร์, โรงพยาบาลรามาธิบดี
· แพทย์อายุรศาสตร์โรคหัวใจ มัณฑนากรหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
· แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ และการสวนหัวใจเพื่อการรักษาโดยเฉพาะการขยายหลอดเลือดหัวใจ สถาบันหัวใจและหลอดเลือดพระรามเก้า โรงพยาบาลพระรามเก้า
· สมาชิกสมาคมโรคหลอดเลือดแดงแห่งประเทศไทย
4. นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน
· ในฐานะแพทย์และอาจารย์แพทย์ - ผลักดันให้ผู้ป่วยทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยทุกพื้นที่ ได้ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ดีอย่างแท้จริง ช่วยให้คนไทยต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บด้วยเทคโนโลยี Smart Hospital
· ในฐานะประธาน กสทช. - จะทุ่มเททำงานเต็มความสามารถ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดหลักธรรมาภิบาล โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อบริหารคลื่นความถี่ ส่งเสริมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการ
5. ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน
· ได้ทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้คนตั้งแต่การทำงานในฐานะแพทย์มาโดยตลอด และการทำงานในฐานะประธาน กสทช. เพื่อสนับสนุนและยกระดับกิจการการสื่อสารของคนไทยเพื่อพี่น้องชาวไทยทุกคน
6. ทรรศนะต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การสร้างเทคโนโลยีการสื่อสารที่ดีที่สุด เพื่ออนาคตของคนไทยทุกคน
7. กิจการอันเป็นคุณประโยชน์เพื่อสังคม สาธารณกุศล
ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ กสทช. ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 เป็นต้นมา ท่านเป็นคนแรกจากวงการแพทย์-สาธารณสุข ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหากรรมการ กสทช. ด้วยคุณสมบัติ เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ เพื่อมากำหนดทิศทางหรือเป้าหมายในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ศ.คลินิก นพ.สรณ ยังได้ดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบัน ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง
ศ.คลินิก นพ.สรณ ได้เคยแสดงวิสัยทัศน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ประธาน กสทช. ไว้ก่อนที่จะรับตำแหน่งว่า “ในฐานะที่ได้รับความไว้วางใจได้รับเลือกเป็นประธาน ทางคณะกรรมการเชื่อว่าจะพัฒนาศักยภาพโครงข่ายโทรคมนาคมและการสื่อสาร และกิจการโทรทัศน์และกระจายเสียงของประเทศ ให้ไปสู่ยุคสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อขยายขีดความสามารถของสังคมผ่านการพัฒนาไปควบคู่กับการแข่งขันที่เท่าเทียม” โดยในช่วงที่ท่านได้ดำรงตำแหน่งประธาน กสทช. ท่านได้นำนโยบายสำคัญขององค์กรมาดำเนินการได้สำเร็จ ดังนี้
1. การปลดล็อกให้มีการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ให้เดินหน้าต่อไปได้ ท่านมีความคิดเห็นว่า ความต้องการควบรวมกิจการนั้นเป็นเรื่องความอยู่รอดของเอกชน ในกรณีทรูและดีแทคนั้น ถ้ารวมกันแล้วจะทำให้แข่งขันได้แข็งแรงขึ้น เมื่อท่านได้ศึกษาตัวบทกฎหมายพบว่าบอร์ด กสทช. ไม่มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต เพราะการควบรวมกันเป็นกิจกรรมของเอกชนในตลาดเสรี ซึ่งท่านคิดว่า เรื่องนี้ผมไม่ได้คิดเอง มีการส่งคำถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ตีความว่าจะพิจารณากรณีทรูควบรวมดีแทคโดยใช้ประกาศฉบับใด ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นกลับมาว่าให้ใช้ประกาศปี พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด กำหนดขอบเขตอำนาจ กสทช.ทำได้เพียงรับทราบและกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น “ผมไม่ได้มองว่าเป็นการใช้อำนาจ ผมมองว่าเป็นหน้าที่ มองว่าบอร์ดต้องตัดสินใจ ผมต้องกล้าวินิจฉัยชี้ขาด นี่คือหน้าที่ของประธาน ซึ่งต้องยึดหลักกฎหมาย เราใช้เวลากับเคสนี้มานานแล้ว ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบครอบคลุมทุกด้าน ถึงเวลาก็ต้องตัดสินใจ” อย่างไรก็ตาม การรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค โดยให้กำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม อาทิเช่น กำหนดให้ทรูและดีแทคต้องลดราคาลง แยกกันทำตลาด ไม่ให้รวมแบรนด์ ไม่ให้รวมคลื่น และต้องสนับสนุนการเติบโตของผู้ประกอบการรายย่อยอย่าง MVNO (Mobile Virtual Network Operator) ด้วย
2. การผลักดันให้บอร์ดชุดนี้เดินหน้าประมูลชุดความถี่ดาวเทียมครั้งแรกของประเทศได้สำเร็จ จากที่เคยเลื่อนไป 2-3 ครั้ง การประมูลสำเร็จช่วยให้มีการนำคลื่นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ มิเช่นนั้นจะต้องคืนคลื่นความถี่กลับไปให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เพื่อนำไปจัดสรรให้ประเทศอื่นที่ต้องการใช้งานต่อไป
3. การผลักดันให้บอร์ดชุดนี้ให้ความเห็นชอบการใช้งานแบบไม่ต้องขอใบอนุญาต (Unlicensed) ความถี่ย่าน WiFi 6E ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยขยายคลื่นความถี่ เพิ่มปริมาณแบนด์วิธ รับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงขึ้น ความหน่วงต่ำ รองรับการใช้งานในอนาคต ซึ่งขณะนี้คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีนำไปใช้ในการสอนผ่าศพ ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต
อย่างไรก็ตาม การทำหน้าที่ประธาน กสทช. นั้น มีอุปสรรคมากมายซึ่งอาจทำให้การขับเคลื่อนนโยบายภายใต้บอร์ดชุดนี้ ทำได้เพียง 50% เท่านั้น กรณีล่าสุด การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ที่ว่างเว้นมานานเกือบ 3 ปี คราวนี้ผมถูกกล่าวหาว่ารวบอำนาจ ผมยืนยันว่าการคัดเลือกและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. เป็นอำนาจของประธานภายใต้ความเห็นชอบจากกรรมการ เป็นไปตามกฎหมายมาตรา 60 และ 61 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ปัญหาและอุปสรรคในพิจารณาของบอร์ดส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจาก การตีความกฎหมายที่ไม่ตรงกัน บางครั้งใช้กฎหมายคนละฉบับ หลายเรื่องฝ่ายกฎหมายของสำนักงาน กสทช. ไม่สามารถหาข้อยุติและชี้ชัดอีกต่อไป ต้องส่งไปให้คนกลางอย่างคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ทำให้กระบวนการตัดสินใจล่าช้าไปมาก
ความยากง่ายของการเป็นประธาน กสทช. กับการเป็นแพทย์นั้น ผมขอตอบว่าเป็นงานที่ไม่คุ้นชินดีกว่า แต่ที่ทำให้ยากเพราะเป็นงานที่ผมไม่สามารถชักจูงใจหรือทำให้คนเห็นพ้องกับผมได้โดยง่าย ตอนเป็นหมอทุกอย่างดูง่าย โดยเฉพาะการพูดชักจูงใจคนให้เชื่อมั่นในตัวเรา
สิ่งที่อยากจะเดินหน้าต่อในระยะ 5 ปี ได้แก่
1. หาจุดสมดุลในการทำงานร่วมกันกับบอร์ดท่านอื่น ผมมองว่าบอร์ด กสทช. สามารถทำประโยชน์ให้เกิดแก่สาธารณชนได้มาก ยกตัวอย่างเช่น การนำโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมไปพัฒนาให้เกิดบริการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน การจัดสรรคลื่นความถี่เพิ่มเติม การบริหารจัดการการเงินของสำนักงาน กสทช. ซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญหน้ากับปัญหารายได้ลดต่ำลงเรื่อยๆ ล่าสุดลดลงราว 10%
2. การกำกับดูแลบริการ OTT (Over the Top) โดยเฉพาะบริการแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิง ซึ่งยังไม่มีการกำกับดูแลด้านเนื้อหา จะต้องมีการผลักดันกฎหมายใหม่ขึ้นมา และต้องกำกับดูแลไม่ให้ไปริดรอนสิทธิประชาชน
3. การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร “โครงสร้างเดิมมี 6 สายงาน 1. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ 2. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร 3. สายงานบริหารองค์กร 4. สายงานวิชาการ 5. สายงานกิจการภูมิภาค และ 6. สายงานกิจการโทรคมนาคม แต่เดิมทุกสายงานจะมีสำนักคอยทำแผน ก็รวมกันเป็นสายงานเดียว จึงต้องปรับและเปลี่ยนเนื้องาน มีการเพิ่มสายงานใหม่รวมเป็น 8 สายงาน มีรองเลขาธิการ 8 คน และปรับลดผู้เชี่ยวชาญลง เพื่อควบคุมงบประมาณ”
แนวคิดในการปรับโครงสร้างองค์กรของ ศ.คลินิก นพ.สรณ เน้นต้องมีเสียงที่เป็นเอกฉันท์ร่วมกัน เช่น การเพิ่มสายงานวิชาการเข้ามาในสำนักงานก็เพราะทุกคนเห็นชอบ และเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมีผลต่อพนักงานทุกระดับ จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ควรใช้หลักเสียงข้างมากอย่างเดียว ไม่เช่นนั้นก็จะมีการเสนอเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้เรื่อยๆ จึงไม่ควรทำภายใต้คณะทำงาน แต่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนภายใต้คณะอนุกรรมาธิการการบริหารงานบุคคล และคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย โดยคำนึงถึงสภาพปัจจุบันของ กสทช. ที่มีรายได้ลดลง และจะลดลงเรื่อยๆ เพราะการใช้บริการโทรคมนาคมในส่วนของเสียงและข้อความลดลง
8. ความภาคภูมิใจและรางวัลเกียรติยศที่ได้รับ
8.1 ความภาคภูมิใจ
· อัสสัมชนิกดีเด่น ประจำปี 2560
· ต้นแบบแห่งความสำเร็จ ประจำปี พ.ศ. 2566 รางวัลเชิดชูเกียรติแพทย์จุฬาฯ ต้นแบบแห่งวงการแพทย์ MDCU (The Medial Icons Awards Ceremony)
8.2 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
พ.ศ. 2558 – มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)