3) บุคคลคุณภาพแห่งปี 2021 ด้านสาธารณสุข
นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ (อายุ 68 ปี)
ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ หลอดเลือด และทรวงอก
1. หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน
1. ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิต (หลายสมัย)
2. ที่ปรึกษามูลนิธิช่วยผ่าตัดหัวใจเด็ก
3. ที่ปรึกษาอนุกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต ของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
4. ที่ปรึกษาโรงพยาบาลมวกเหล็ก จ.สระบุรี
5. แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัวที่ศูนย์ Well ness we care อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี
2. ประวัติการศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (รุ่นที่ 1)
· วิชาชีพเวชกรรม (วว.) สาขาศัลยศาสตร์หัวใจหลอดเลือดทรวงอก (แพทยสภา)
· วิชาชีพเวชกรรม (วว.) สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว (แพทยสภา)
· Certificate at Cardiovascular and Thoracic Surgery Full Registor Training (Green lane Hospital, Auckland, Newzealand)
· Cardiovascular and Thoracic Surgery visiting Fellow (Brigham and Women Hospital Harvard, Bostan, U.S.A.)
3. ประวัติการทำงาน
· แพทย์ทั่วไป (หลังจบการศึกษาทำงานใช้ทุน) โรงพยาบาลปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
· หลังจากใช้ทุนครบก็เข้ารับการฝึกอบรมเป็นหมอผ่าตัดศัลยกรรมทรวงอก จบแล้วได้ทำงานเป็นศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลศูนย์สระบุรี จ.สระบุรี
· เข้ารับการฝึกอบรมเป็นหมอผ่าตัดหัวใจที่ต่างประเทศ จบแล้วกลับมารับราชการเป็นศัลยแพทย์หัวใจที่โรงพยาบาลราชวิถี จ.กรุงเทพมหานคร (ประมาณ 20 ปี)
· คณะอนุกรรมการสมาคมแพทย์โรคหัวใจของสหรัฐอเมริกา (American Heart Association; AHA)
· กรรมการสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
· ผู้ก่อตั้งและเป็นประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิต ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544
· บรรณาธิการตำราด้านโรคหัวใจและการช่วยชีวิต 3 เล่ม และผู้เขียนหนังสือสุขภาพ บทความทางวิชาการ ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์อีกมากมาย
· ลาออกจากราชการ มาทำงานตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 จ.กรุงเทพมหานคร (ประมาณ 6 ปี)
· ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ประชาชื่น จ.กรุงเทพมหานคร (ประมาณ 2 ปี)
· เริ่มงานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ปี พ.ศ. 2552 มีหน้าที่สอนให้คนไข้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ด้วยการ ออกกำลังกาย โภชนาการ การพักผ่อนที่พอเพียง และการจัดการความเครียดอย่างเป็นระบบ
· เป็นวิทยากรรับเชิญ เขียนหนังสือ ทำรายการทีวี ทำวิดีโอเผยแพร่ทางยูทูป เขียนบทความและตอบคำถามในบล็อกเกอร์ส่วนตัว https://drsant.com/ และ Facebook เพื่อให้ความรู้ด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่สาธารณชนในการดูแลสุขภาพของตนเอง
· หัวหน้าศูนย์สุขภาพ Well ness we care center อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี (พ.ศ. 2559 –ปัจจุบัน)
4. นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน
ทิ้งความยึดถือในตัวเองด้วยการสร้างสรรค์ประโยชน์ให้ชีวิตอื่นและให้โลก
5. ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน
· การเป็นศัลยแพทย์หัวใจ 20 ปี และได้เขียนตำราทางการแพทย์เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยวิกฤติโรคหัวใจและการช่วยชีวิตขั้นสูงไว้หลายเล่ม จากประสบการณ์ทำงานด้านผ่าตัดหัวใจแบบเปิดมา 20 ปี ให้กับผู้ป่วยมากกว่า 2,000 ราย และการสร้างมาตรฐานการช่วยชีวิตขึ้นในประเทศไทย
· จุดเปลี่ยนในการรักษาของ นพ.สันต์ ซึ่งเป็นหมอผ่าตัดหัวใจที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ สืบเนื่องมาจากในวัย 55 ปี คุณหมอป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง เมื่อตรวจหลอดเลือดก็พบว่าหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่คุณหมอไม่เลือกวิธีรักษาด้วยการสวนหัวใจเพราะกลัวการทำบอลลูนและการผ่าตัดทำบายพาส เพราะจากประสบการณ์ 20 กว่าปี ที่ได้รักษาผู้ป่วยด้วยวิธีนี้ พบว่าผู้ป่วยมีโอกาสจะหายป่วย เสียชีวิต หรือต้องกลับมาผ่าตัดใหม่ในระยะยาว ดังนั้น คุณหมอจึงเริ่มหันมาหาวิธีพลิกผันโรคด้วยตนเอง โดยเริ่มค้นหาสาเหตุที่ทำให้คุณหมอป่วย ซึ่งพบว่าต้นเหตุมาจากอาหารและการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงตามแบบฝรั่ง รับประทานผักผลไม้น้อย ชอบดื่มเครื่องดื่มจำพวกน้ำอัดลมและกาแฟสำเร็จรูป ตลอดจนรับประทานขนมหวาน เบเกอรี่อยู่เป็นประจำ นอกจากนี้คุณหมอเองก็ทำงานหนักประกอบกับความเครียดและไม่มีเวลาออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ จนในที่สุดก็ป่วยด้วยโรคเรื้อรังหลายชนิดตามมา
· เมื่อคุณหมอพบสาเหตุที่ทำให้ป่วย จึงได้พยายามปรับเปลี่ยนอาหาร ออกกำลังกาย ทานยาลดความดัน ไขมัน ฯลฯ และดูแลสุขภาพให้มากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการที่ทำให้ไม่สามารถรักษาโรคที่เป็นอยู่ได้จนหายขาด ดังนั้น คุณหมอจึงตัดสินใจเลิกผ่าตัดหัวใจและเลิกทำงานบริหารโรงพยาบาล ต่อจากนั้นคุณหมอก็หันไปเรียนใหม่เพื่อเป็นหมอประจำครอบครัว และเริ่มต้นปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตใหม่ ทั้งในเรื่องของอาหารและชีวิตประจำวันโดยปฏิบัติเช่นนี้อยู่นานหลายปี ในช่วงนี้เองคุณหมอก็ได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศโดยได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับเพื่อนหมอหลายๆท่าน ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ศึกษาเพิ่มเติม และเจาะลึกงานวิจัยต่างๆ ทำให้ความคิดและความเข้าใจค่อยๆตกผลึกว่าแท้ที่จริงแล้วอาหารเนื้อสัตว์และการแปรรูปอาหารด้วยวิธีการต่างๆเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วย ซึ่งแตกต่างจากอาหารพืชตามธรรมชาติที่สามารถรักษาการเจ็บป่วยได้ นอกจากนี้คุณหมอเองก็ยังดูแลตัวเองในเรื่องของการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกาย และการบริหารจัดการความเครียด เช่น การรำมวยจีน ฝึกโยคะ และการนั่งสมาธิ เป็นต้น ในที่สุดคุณหมอก็ทิ้งยาต่างๆไปหมด ทั้งยาความดัน ยาไขมัน และยาโรคหัวใจ เพราะตัวชี้วัดต่างๆมันปกติหมดแล้ว สุขภาพโดยรวมแข็งแรงกว่าเดิม และคุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก
· จากประสบการณ์ตรงที่คุณหมอเคยป่วยเป็นโรคหัวใจ จนในที่สุดสามารถที่จะพลิกผันโรคได้ด้วยตนเองโดยไม่ใช้ยาและการผ่าตัด คุณหมอจึงตั้งใจที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ภายหลังจากที่ได้สุขภาพดีกลับคืนมา ในการถ่ายทอดและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการป้องกันและพลิกผันโรคให้แก่บุคคลทั่วไป โดยการเขียนหนังสือ บทความ ทำรายการทีวี เป็นวิทยากรรับเชิญ และล่าสุดกับการสร้างศูนย์เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ขึ้นพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมสุขภาพให้กับผู้ป่วยและบุคคลทั่วไป นอกจากนี้คุณหมอยังมีบล็อคส่วนตัวไว้คอยตอบคำถามสุขภาพซึ่งมีผู้ติดตามอ่านบทความปีละไม่ต่ำกว่าสองล้านครั้ง
· การเปิดแนวทางการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต
· การเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนป้องกันและพลิกผันโรคได้ด้วยตนเอง
6. ทรรศนะต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
วงการแพทย์มีโอกาสพัฒนาอย่างก้าวกระโดด หากรับเอาเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารมาใช้อย่างจริงจัง
7. กิจการอันเป็นคุณประโยชน์เพื่อสังคม สาธารณกุศล
1. ร่วมก่อตั้งมูลนิธิช่วยผ่าตัดหัวใจเด็ก เพื่อหาเงินมาผ่าตัดเด็กยากไร้ที่หัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษามูลนิธิช่วยผ่าตัดหัวใจเด็ก
2. กรรมการสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (หลายสมัย)
3. ร่วมจัดทำมาตรฐานการช่วยชีวิตของประเทศไทยขึ้น ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาอนุกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต ของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
4. ผู้ก่อตั้งและเป็นประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิต (หลายสมัย) เพื่อสอนแพทย์พยาบาลและคนทั่วไป ซึ่งมูลนิธินี้ก็ยังทำงานขันแข็งอยู่ ปัจจุบันมีแพทย์จิตอาสารุ่นหลังรับช่วงไปทำต่อ
5. หลังจากที่ นพ.สันต์ ลาออกจากราชการ ได้เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์หัวใจขึ้นในภาคเอกชน ให้กับเครือโรงพยาบาลพญาไท โดยร่วมมือกับมหาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา
6. ผู้จัดตั้งศูนย์หัวใจเพื่อผ่าตัดผู้ป่วยสามสิบบาทและประกันสังคม ที่ รพ.เกษมราษฎร์ประชาชื่น
7. ผู้ให้ความรู้ทางการแพทย์เชิงดูแลตัวเองให้กับประชาชน หลังจากที่เลิกผ่าตัดหัวใจเลิกทำงานบริหารโรงพยาบาล ก็หันไปเรียนใหม่เพื่อเป็นหมอประจำครอบครัว จบแล้วมาทำงานสอนผู้ป่วยให้รู้จักดูแลตัวเอง โดยเขียนหนังสือ บทความทางวิชาการ วารสารทางการแพทย์ บทความให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการป้องกันก่อนที่จะป่วย โดยอัพเดทตามโรคภัยไข้เจ็บที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน ทั้งในรูปแบบสิ่งพิมพ์และผ่านช่องทางสื่อโซเชียลมีเดีย ได้แก่ การทำวิดีโอออกฉายทางยูทูป การตอบคำถามทางบล็อกส่วนตัว ที่มีคนอ่านไม่น้อยกว่าปีละ 2 ล้านครั้ง
8. ความภาคภูมิใจและรางวัลเกียรติยศที่ได้รับ
8.1 ความภาคภูมิใจ
· หลังจากที่เรียนจบแพทย์ นพ.สันต์ ได้ไปทำงานใช้ทุนที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โดยได้เป็นผู้ร่วมสร้างโรงพยาบาลปากพนัง (โรงพยาบาลชุมชน ขนาด 30 เตียง) ขึ้นมาได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างชุมชนกับโรงพยาบาล โดยมี นพ.สันต์ เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้บริจาค ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ
· นพ.สันต์ ได้เดินทางไปฝึกอบรมเฉพาะด้านการผ่าตัดหัวใจทรวงอกและหลอดเลือดที่ประเทศนิวซีแลนด์ และได้รับรางวัล Registrar’s Award, Green lane Hospital, Auckland, Newzealand
· หลังจากที่ นพ.สันต์ กลับจากเมืองนอกแล้วได้รับราชการอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี ทำผ่าตัดหัวใจบายพาสอยู่หลายปี แล้วก็ไปฝึกอบรมเพิ่มเติมที่เพรสบิไทเรียน ดัลลัส เท็กซัส อเมริกา และ Brigham and Women Hospital Harvard, Bostan, U.S.A. ก็เดินทางอยู่บ่อยครั้งระหว่าง เมืองดัลลัส บอสตันและกรุงเทพ ทั้งงานผ่าตัด งานสอน งานบรรยาย ทั้งในและต่างประเทศ พอกลับมาทำงานในเมืองไทย ได้พบผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจหยุดเต้น แล้วต้องปฏิบัติการช่วยชีวิต ก็ได้พบว่าระบบปฏิบัติการช่วยชีวิตของเมืองไทยไม่เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ แพทย์ที่จบจากสถานศึกษาที่ต่างกัน พอมาเข้าทีมเดียวกันก็ไม่สามารถทำงานเข้าขากันได้ นพ.สันต์ จึงตั้งใจว่าจะต้องผลักดันให้มีมาตรฐานเรื่องนี้ขึ้นในเมืองไทยให้ได้ โดยเข้าไปทำงานเป็นกรรมการสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย และเป็นผู้ผลักดันให้มีการตั้งกรรมการร่วมระหว่างสมาคมกับกระทรวงสาธารณสุข และร่วมมือกับสมาคมหัวใจอเมริกัน โดย นพ.สันต์ เดินทางไปมาระหว่างเมืองดัลลัสและกรุงเทพอยู่หลายครั้ง ทำอยู่หลายปี จนการจัดทำมาตรฐานการช่วยชีวิตและระบบฝึกอบรมที่เหมือนกันทั้งประเทศเกิดขึ้นได้สำเร็จ มีตำราคู่มือมาตรฐานที่ นพ.สันต์ เป็นบรรณาธิการ ซึ่งพิมพ์ออกใช้แล้วหลายครั้ง งานนี้เป็นผลจากความร่วมแรงร่วมใจของแพทย์โรคหัวใจและวิสัญญีแพทย์ทั้งประเทศจำนวนมาก
· สร้างระบบผ่าตัดหัวใจเพื่อรักษาคนจนผ่านระบบประกันสังคมและสามสิบบาทในภาคเอกชน คือ เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน การผ่าตัดหัวใจให้คนจนทำได้แต่ในโรงพยาบาลของรัฐ เพราะในภาคเอกชนมีต้นทุนสูงถึงสามแสนบาท ขณะที่ประกันสังคมจ่ายเพียงแสนเดียว แต่ถ้าพึ่งพาโรงพยาบาลรัฐเพียงอย่างเดียวจะทำไม่ทัน เพราะมีจำนวนคนไข้เข้าคิวรอผ่าตัดนานกว่าจะได้ผ่าก็ปีกว่าสองปี บ้างก็ถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ที่ต้องล้มหายตายจากไปก่อนก็มาก คุณหมอพยายามแก้ปัญหานี้โดยหาทางจัดตั้งระบบที่เรียกว่า “องค์การมหาชน” ขึ้นมา เพื่อให้มีเงินมาจูงใจให้หมอทำงานนอกเวลาจะได้ผ่าตัดได้มากขึ้น แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะเพื่อนร่วมอาชีพส่วนหนึ่งไม่เข้าใจ อีกส่วนหนึ่งไม่เชื่อว่าจะสามารถลดต้นทุนลงไปจนเหลือรายละหนึ่งแสนบาทได้ บ้างก็เชื่อว่าคิวรอผ่าตัด จนตายก็ทำไม่หมด อย่าไปพยายามเลย คุณหมอจึงตัดสินใจออกจากราชการมาจัดตั้งระบบนี้ในภาคเอกชน ตอนแรกมาตั้งศูนย์ที่ รพ.พญาไท โดยร่วมมือกับฮาร์วาร์ดเรียกว่าศูนย์หัวใจพญาไท-ฮาร์วาร์ด โดยสร้างคนและพัฒนาวิธีทำให้มีต้นทุนต่ำ โดยเรียนรู้จากเพื่อนที่ผ่าตัดหัวใจอยู่ที่อินเดีย เพราะที่นั่นหมอเขาเย็บต่อบายพาสหลอดเลือดหัวใจสามเส้นด้วยไหมเย็บเส้นเดียว คุณหมอทำงานที่ รพ.พญาไทอยู่หลายปีจน รพ.พญาไทหมดสัญญากับฮาร์วาร์ด คุณหมอจึงย้ายไปตั้งศูนย์ทำต่อที่ รพ.เกษมราษฎร์ประชาชื่น จนเมื่อสิบปีที่แล้ว รพ.เกษมราษฎร์ประชาชื่น สามารถผ่าตัดหัวใจให้คนจนได้ปีละ 700 ราย เป็นศูนย์หัวใจรักษาคนจนที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของประเทศ ทำให้หลายสถาบันเข้าใจสิ่งที่คุณหมอพยายามจะทำ จึงได้จัดระบบผ่าตัดนอกเวลาขึ้นมา คิวรอผ่าตัดหัวใจที่ยาวเหยียดทั่วประเทศไทยจึงหมดลง
8.2 รางวัลและเกียรติยศที่เคยได้รับ
· รางวัลเกียรติยศวันมหิดล คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์