1) บุคคลคุณภาพแห่งปี 2021 ด้านวิทยาศาสตร์
นายแพทย์ มนูญ ลีเชวงวงศ์ (อายุ 72 ปี)
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบทางเดินหายใจ
1. หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน
1. ผู้ก่อตั้งและประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์แห่งประเทศไทย
2. ประธานกรรมการทุนวิจัยวัณโรคดื้อยาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ศิริราชมูลนิธิ
3. ประธานกรรมการทุนง่วงอย่าขับ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มูลนิธิรามาธิบดี
4. ผู้ร่วมก่อตั้งและนายกสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย 2 สมัย (พ.ศ.2550–2554) ปัจจุบันเป็นกรรมการและที่ปรึกษาสมาคม
5. ที่ปรึกษาสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย
6. รองประธานองค์กรแพทย์ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
7. หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
2. ประวัติการศึกษา
· แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2515)
· แพทย์ฝึกหัด
- โรงพยาบาลรามาธิบดี (พ.ศ. 2515–2516)
- Long Island College Hospital, Brooklyn, NY. (พ.ศ. 2516–2517)
· แพทย์ประจำบ้าน
- Mount Sinai Services City Hospital Center at Elmhurst, NY. (พ.ศ. 2517-2518)
- Veterans Administration Hospital, Bronx, NY. (พ.ศ. 2518-2519)
· การฝึกหัดแพทย์เฉพาะทาง
- Chest Fellow, Mount Sinai Services City Hospital Center at Elmhurst, NY (พ.ศ. 2519-2521)
· วุฒิบัตร
- American Board of Internal Medicine (พ.ศ. 2519)
- Subspecialty Board, Pulmonary Disease (พ.ศ. 2521)
- American Board Quality Assurance and Utilization Review Physicians (พ.ศ. 2523)
- Subspecialty Board, Critical Care Medicine (พ.ศ. 2530)
- Added Qualifications in Geriatric Medicine (พ.ศ. 2531)
· สมาชิกสมาคมแพทย์
- Fellow of American College of Physicians (พ.ศ. 2522)
3. ประวัติการทำงาน
· Assistant Professor Mount Sinai School of Medicine, NY USA และ Chest + Geriatric Physician, U.S.A. (พ.ศ. 2523-2530)
· หัวหน้าไอซียูและโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ พ.ศ. 2533–ปัจจุบัน
· อาจารย์พิเศษ สอนคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (4 ปี) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534
· ประธานกรรมการทุนวิจัยวัณโรคดื้อยา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ศิริราชมูลนิธิ พ.ศ. 2544-ปัจจุบัน
· ประธานกรรมการทุนง่วงอย่าขับ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มูลนิธิรามาธิบดี พ.ศ. 2548-ปัจจุบัน
· ผู้ก่อตั้งและประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558-ปัจจุบัน
· ผู้ร่วมก่อตั้งและนายกสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย
· ที่ปรึกษาสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย
4. นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน
มีสติ มุ่งมั่น ไม่ท้อถอย และมั่นใจในการทำงาน มีอุดมการณ์ในการทำงานเพื่อเป้าหมายในการช่วยชีวิตผู้ป่วยได้หลายๆคน การอุทิศตนเพื่อส่วนรวมและสังคม โดยริเริ่มโครงการรณรงค์ต่างๆ เพื่อหวังจะได้เห็นแพทย์ไทยทดสอบความไวต่อยา การเลือกยารักษาคนไข้วัณโรคดื้อยาได้อย่างถูกต้อง การเห็นคนใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือ เพื่อช่วยลดการแพร่เชื้อทางเดินหายใจ การได้เห็นคนไทยเริ่มตระหนักถึงอันตรายของการง่วงในขณะขับขี่ ซึ่งจะลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากง่วงหลับใน
5. ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน
· เป็นแพทย์โรงพยาบาลเอกชนคนแรกของประเทศที่ได้รับรางวัล แพทย์ดีเด่นของแพทยสภา ประจำปี พ.ศ. 2561 ด้านผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะมองว่า แพทย์ที่ทำงานให้กับโรงพยาบาลเอกชนมักทำงานเพื่อประโยชน์ตนเอง แต่นายแพทย์มนูญ เป็นแพทย์ท่านหนึ่งที่สละเวลาทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคมและส่วนรวมตลอดระยะเวลา 20 ปี โดยริเริ่มงานที่เกี่ยวข้องกับวัณโรคดื้อยาซึ่งเป็นภัยต่อสังคมและประเทศ เนื่องจากเป็นโรคที่รักษายาก ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูง การวินิจฉัยเบื้องตัน กับการให้ยาที่ถูกต้อง จะเป็นการช่วยลดการแพร่กระจายโรคของผู้ป่วย 1 คน ให้กับผู้อื่นอีก 10-15 คน ปัจจุบันทางภาครัฐเริ่มเห็นความสำคัญของวัณโรคดื้อยา ยอมรับแล้วว่าจะต้องตรวจวัณโรคดื้อยากับผู้ป่วยทุกคนที่เข้ามารับการรักษา โดยต้องตรวจทุกคนว่าดื้อยาหรือไม่ และดื้อยาชนิดใด เพื่อจะได้จ่ายยารักษาให้ถูกต้อง ถึงแม้ว่าการตรวจวัณโรคดื้อยาจะมีค่าใช้จ่ายสูงแต่ว่าเป็นการลงทุนที่จำเป็น เพราะหากรักษาอย่างไม่ถูกต้องก็จะเป็นการแพร่กระจายให้มีผู้ป่วยในสังคมเพิ่มมากขึ้น สุดท้ายก็จะเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาที่มากขึ้นตาม จึงจำเป็นที่จะต้องรีบทำเสียแต่เริ่มต้น
· ผู้ริเริ่มเรื่องการลดอุบัติเหตุทางจราจรอันมีสาเหตุมาจากการหลับใน จนปัจจุบันทางภาครัฐเริ่มเห็นความสำคัญ ในเรื่องอุบัติเหตุการจราจรอันมีสาเหตุมาจากการหลับในของผู้ขับขี่ เพราะประเทศไทยมีผู้สูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางจราจร ประมาณ 20,000 กว่าคนต่อปี สูงเป็นอันดับต้นของโลก และสูงเป็นอันดับที่ 1 ในเอเชียและอาเซียน โดยคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าอุบัติเหตุทางจราจรมาจากสาเหตุ การเมา หรือขับรถเร็ว หรือความประมาท โดยมองข้ามความสำคัญของการหลับใน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 5,000 – 6,000 คนต่อปี ทั้งที่เราสามารถป้องกันได้โดยการให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการหลับในและวิธีการแก้ไข เช่น เมื่อรู้ตัวว่าง่วง ควรรีบจอดรถหลบข้างทางเพื่องีบหลับ 10-15 นาที เมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว จะสามารถขับรถต่อได้อย่างปลอดภัย
· ในปัจจุบันและอนาคต คนไทยเริ่มมีความรู้ในทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น สามารถที่จะค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ในกูเกิ้ล รวมทั้งค้นหาแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ด้วย อีกทั้งยังเริ่มคาดหวังต่อผลการรักษามากขึ้น ดังนั้น แพทย์ในปัจจุบันต้องใฝ่รู้ และเรียนรู้เพิ่มเติม เพราะทุกวันจะมีโรคใหม่ ยาใหม่ วิธีการรักษาใหม่ๆเกิดขึ้น แพทย์จะต้องติดตามเพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ ในการดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด
· ข้อคิดสำหรับผู้ที่สนใจจะศึกษาต่อด้านแพทย์ การเรียนแพทย์นั้น จะต้องมีใจรัก ตั้งใจจริงเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ไม่ใช่เรียนตามคนอื่น หรือพ่อแม่อยากให้เรียน และต้องเข้าใจว่าการเรียนแพทย์ หรือจบเป็นแพทย์แล้วนั้น เป็นอาชีพที่เหน็ดเหนื่อย ต้องทุ่มเทเพื่อคนไข้ ต้องนึกเสมอว่าชีวิตคนไข้นั้นมีความสำคัญ เราต้องเข้าอกเข้าใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องถือประโยชน์ของคนไข้เหนือประโยชน์ของตนเอง มีความเมตตา มีความกรุณา
6. ทรรศนะต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ประเทศไทยต้องพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ต่อเนื่อง และคนไทยต้องเปิดใจให้กว้างเพื่อรับความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้สามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
7. กิจการอันเป็นคุณประโยชน์เพื่อสังคม สาธารณกุศล
· หลังจากที่เรียนจบแพทย์และทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในตำแหน่ง Assistant Professor Mount Sinai School of Medicine, NY USA และ Chest + Geriatric Physician, U.S.A. นายแพทย์มนูญและครอบครัวได้เดินทางกลับมาประเทศไทย โดยเริ่มทำงานให้กับโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ในตำแหน่งหัวหน้าไอซียู หน่วยโรคทางเดินหายใจและผู้สูงอายุ ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา แต่ไม่ประสงค์ให้เป็นไปเพื่อความรุ่งเรืองทางธุรกิจ ยังคงติดตามความรู้อยู่เสมอ ได้ชักชวนให้เพื่อนร่วมงานทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยการทำโครงการต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ได้แก่
· ก่อตั้งและเป็นประธานทุนวิจัยวัณโรคดื้อยาในศิริราชมูลนิธิ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2543 โดยได้หาเงินบริจาคเข้ากองทุนวิจัยวัณโรคดื้อยาฯ เป็นจำนวนเงินกว่า 42 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการทดสอบตรวจความไวของเชื้อวัณโรคต่อยาให้ฟรีกับโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ เพื่อให้แพทย์ผู้รักษาได้ปรับยาให้ผู้ป่วยได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน
· เป็นแพทย์คนแรกที่ริเริ่มการรณรงค์ให้ผู้ติดเชื้อทางเดินหายใจใส่หน้ากากอนามัยอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ด้วยเหตุที่นายแพทย์มนูญเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ ได้มองเห็นความสำคัญของการป้องกันตนเอง และป้องกันไม่ให้ผู้อื่นติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ แต่คนไทยในสมัยนั้นยังไม่คุ้นชินกับวิธีการนี้ จึงได้เชิญผู้มีชื่อเสียงโด่งดังสมัยนั้น คือ คุณธงไชย แมคอินไตย์ และศิลปินค่ายแกรมมี่มาเป็นผู้นำเสนอ ทำให้คนไทยกล้าใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะอย่างไม่รู้สึกขัดเขิน และได้เพิ่มเรื่องการล้างมือทุกครั้งเมื่อใช้มือป้องเวลาไอจาม เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อให้กับผู้อื่น
· ผู้ก่อตั้งกองทุนง่วงอย่าขับในมูลนิธิรามาธิบดี เมื่อปี พ.ศ. 2547
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับอุปถัมภ์ การรณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงอันตรายจากการง่วงแล้วขับ และหาทางแก้ไขเมื่อรู้สึกง่วงขณะขับรถ โดยเชิญคุณณัฐวุฒิ สะกิดใจ นำเสนอ “ง่วงหลับใน ตายได้ใน 4 วินาที” และคุณเจนนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ นำเสนอการรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการนอนหลับให้เพียงพอ ถ้าง่วงมากให้งีบหลับ 10-15 นาที นายแพทย์มนูญและคณะทำงานได้ทำการวิจัยหาอุบัติการณ์ของการง่วงหลับใน ความสัมพันธ์ของการเกิดอุบัติเหตุและความง่วงในพนักงานขับรถโดยสารและรถบรรทุก ลงตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ ปี พ.ศ. 2547
· ผู้ริเริ่มการรณรงค์เรื่องการลดการจุดธูป เพื่อลดมลพิษและลดการสูดดมสารก่อมะเร็งในควันธูปเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยนายแพทย์มนูญได้ร่วมกับคณะวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของการได้รับสารก่อมะเร็งจากควันธูปในคนงานที่ปฏิบัติงานภายในวัด และได้ลงตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ เมื่อปี พ.ศ. 2551
· ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทยในยุคแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ซึ่งนายแพทย์มนูญได้ดำรงตำแหน่งอุปนายกคนที่ 2 ในคณะกรรมการบริหารสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย ชุดรักษาการก่อนที่จะมีการจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมให้ถูกต้องตามระเบียบ และต่อมานายแพทย์มนูญได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม 2 สมัย (พ.ศ. 2550 – 2554) ปัจจุบันเป็นกรรมการและที่ปรึกษาสมาคม
· ผู้ก่อตั้งและเป็นประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์แห่งประเทศไทย
เชื้อราเป็นเชื้อที่รักษายาก เมื่อครั้งนักร้องวงดีทูบีประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ตกลงคูน้ำข้างทาง เกิดเชื้อราขึ้นสมอง นายแพทย์มนูญเป็นผู้ดูแลรักษาจนเป็นผลสำเร็จด้วยยาเชื้อรา Voriconazole จากประเทศออสเตรเลีย ทำให้เห็นว่าการรวมตัวกันของแพทย์ผู้สนใจการรักษาเชื้อรา จะเป็นแนวทางให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จึงได้ก่อตั้งชมรมเชื้อราทางการแพทย์แห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2552 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้องค์ความรู้ที่ครอบคลุมด้านต่างๆ ของเชื้อราการแพทย์ ได้แก่ การวินิจฉัยทั้งทางคลินิกและห้องปฏิบัติการ การรักษาโรคติดเชื้อรา ยาต้านเชื้อรา และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้มีการพัฒนาและเผยแพร่อย่างทันสมัยในหมู่สมาชิกผู้สนใจและประชาชน อันจะนำประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ผู้ป่วยและประเทศชาติ สมาชิกของชมรมฯ ประกอบด้วย แพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ ทั้งจากมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลทั่วประเทศ นายแพทย์มนูญ ได้ดำรงตำแหน่งประธานชมรมเชื้อราฯตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558-ปัจจุบัน
· ปี พ.ศ. 2563–ปัจจุบัน ที่ประเทศไทยมีการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) นายแพทย์มนูญ ถือเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากสื่อมวลชนหลายแขนง ในการอ้างอิงเวลาที่นายแพทย์มนูญได้นำเสนอผลจากกรณีศึกษาการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ต่างๆทั้งภายในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก และได้ให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องกับคนไทยในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในแต่ละช่วงเวลาทางสื่อออนไลน์ เพื่อเป็นวิทยาทานและลดความตื่นตระหนกในการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม
8. ความภาคภูมิใจและรางวัลเกียรติยศที่ได้รับ
เป็นแพทย์โรงพยาบาลเอกชนคนแรกของประเทศที่ได้รับรางวัล แพทย์ดีเด่นของแพทยสภา ประจำปี พ.ศ. 2561 ด้านผู้ปฏิบัติงาน การอุทิศตนและเสียสละเวลาทำงานเพื่อสังคม และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2561 ในว้นสถาปนาแพทยสภา 50 ปี