3) บุคคลคุณภาพแห่งปี 2020 ด้านสาธารณสุข
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยะมิตร ศรีธรา (อายุ 61 ปี)
ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด
1. หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน
1. คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
2. ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดี
3. หัวหน้าคลัสเตอร์วิจัยหัวใจหลอดเลือดและเมแทบอลิซึม มหาวิทยาลัยมหิดล
4. กรรมการการสอบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคหัวใจแพทยสภา
2. ประวัติการศึกษา
· วิทยาศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล (2523)
· แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (2525)
· ว.ว. อายุรศาสตร์ทั่วไป แพทยสภา
· Diploma in Cardiology, Royal Postgraduate Medical School, Hammersmith Hospital, University of London
· Certificate and Diploma in Interactive Video & Computer Technology, Birkbeck College, University of London
· อ.ว. อายุรศาสตร์โรคหัวใจ แพทยสภา
· ประกาศนียบัตรหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บยส.รุ่น 12) กระทรวงยุติธรรม
· Fellow of American College of Physician (2558)
· Fellow of Royal College of Physician (LONDON) (2559)
· Director Certification Program (DCP) - Thai Institute of Directors
· ประกาศนียบัตรหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย วิทยาลัยศาลรัฐธรรมนูญ(นธป.6) (2561)
3. ประวัติการทำงาน
พ.ศ. 2558 - ปัจจุบัน คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2555 - 2560 ประธานวิชาการของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2554 - ปัจจุบัน หัวหน้าคลัสเตอร์วิจัยหัวใจหลอดเลือดและเมแทบอลิซึมมหาวิทยาลัยมหิดล
ตุลาคม 2553 – 2557 หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2551- 2554 เมธีวิจัยอาวุโสสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว)
พ.ศ. 2550 – 2553 ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจหลอดเลือดและเมแทบอลิซึมคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2549 - 2553 รองหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
กันยายน 2549 ศาสตราจารย์ประจำหน่วยโรคหัวใจมหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2548 แพทย์ดีเด่นด้านวิชาการของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2545 - 2548 รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2542 - ปัจจุบัน กรรมการการสอบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคหัวใจแพทยสภา
พ.ศ. 2539 รองศาสตราจารย์ประจำหน่วยโรคหัวใจมหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2535 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำหน่วยโรคหัวใจ
พ.ศ. 2533 – 2535 แพทย์โรคหัวใจประจำ Hammer smith Hospital และ Harefield Hospital, UK
พ.ศ. 2531 อาจารย์ประจำหน่วยโรคหัวใจโรงพยาบาลรามาธิบดี
พ.ศ. 2526 - 2528 แพทย์ใช้ทุนโรงพยาบาลเกาะสมุยจังหวัดสุราษฎร์ธานี
4. นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน
· ทำงานที่รักและชอบจะทำให้มีความสุขกับงาน
· ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำเอาองค์ความรู้ใหม่ที่พัฒนาขึ้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับสังคม
· สืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก
“ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”
5. ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน
· งานวิจัยระยะยาวถึงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งศึกษาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ทราบถึงอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองในคนไทย เป็นที่มาของแบบประเมินความเสี่ยง “Thai CV Risk Score” และแบบประเมินความเสี่ยงโรคไตด้วยตัวเอง “Thai CKD risk score” ที่ใช้อยู่ในกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน มีการขยายเครือข่ายงานวิจัยนี้ไปยังสาขาวิชาโรคต่อมไร้ท่อ โรคกระดูกพรุน โรคปริทันต์ เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข พันธุกรรมคลินิก และสาขาอื่นๆ อีกมากมาย งานวิจัยนี้ยังเป็นแหล่งผลิตนักวิจัยมาหลายรุ่นอย่างต่อเนื่อง มีพนักงานการไฟฟ้าฯ ที่ถูกติดตามอย่างต่อเนื่องถึงสามรุ่นรวมเป็นจำนวนกว่า 9,000 ราย
· บริหารงานคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีในฐานะคณบดีสองสมัย
· เปิดดำเนินการสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
6. ทรรศนะต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ต้องนำเอาความรู้จากนักวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆร่วมมือกับภาคเอกชนทำให้เกิดนวตกรรมที่ออกสู่ตลาดทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตและลดการขาดดุลการค้าในการซื้อยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ
7. กิจการอันเป็นคุณประโยชน์เพื่อสังคม สาธารณกุศล
· คุณหมอเติบโตมาในสายงานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ซึ่งมีผลงานดีเด่น ทั้งงานวิจัยที่มีการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศและในประเทศมากกว่า 100 ผลงาน โดยเฉพาะเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งยังจับปากกาเขียนตำราด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งได้รับความไว้วางใจให้ถวายการดูแล “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรม ราชินีนาถ” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน
· คุณหมอเข้ารับตำแหน่งคณบดีฯตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2558 งานสำคัญที่ท้าทายในด้านการบริหารเป็นอย่างมากในปี พ.ศ. 2560 คือการเปิดสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ที่บริเวณตำบลบางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เพื่อให้เป็นสถาบันสำหรับให้บริการทางการรักษาสุขภาพและผลิตบุคลากรทางการแพทย์ขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 300 ไร่ เป็นโรงพยาบาลทั่วไป ขนาด 400 เตียง มีความพร้อมด้านการรักษาพยาบาลในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ และระดับตติยภูมิเฉพาะบางสาขาที่ความจำเป็นเท่านั้น สถาบันนี้เกิดจากพระราชปรารภและพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ที่มีพระราชประสงค์ให้มีสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่ระดับโรงเรียนแพทย์ ที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อให้การดูแลและให้บริการตรวจรักษาประชาชนในสมุทรปราการ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด เพื่อประกอบอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ตลอดจนถึงประชาชนในบริเวณใกล้เคียง รวมถึงจังหวัดชายฝั่งตะวันออก เนื่องจากในปัจจุบันโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในจังหวัดสมุทรปราการเป็นโรงพยาบาลเอกชน ประชาชน ซึ่งมีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงบริการของโรงพยาบาลเอกชนได้ โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ชาวรามาธิบดีทุกหมู่เหล่าน้อมใจกายดำเนินโครงการเพื่อถวายเป็นราชสักการะ และเฉลิมพระเกียรติฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ซึ่งสมพระเกียรติยศอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังใช้เป็นสถานที่ผลิตนักเรียนแพทย์ให้เป็นบัณฑิตแพทย์ และผลิตผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ รวมทั้งเป็นศูนย์วิจัยเกี่ยวกับปัญหาสำคัญๆทางด้านสาธารณสุขของประเทศ
· ปัญหาการบริการที่เป็นปัญหาใหญ่ คือ บุคลากร โดยเฉพาะพยาบาล ขาดแคลน ถึงแม้เราจะผลิตพยาบาลได้เองปีละ 200 คน ก็ยังไม่พอ เพราะว่าความต้องการวิชาชีพนี้สูงมาก ที่สำคัญคือ การคงอยู่ในระบบน้อย หมายความว่า พอเข้ามาเป็นพยาบาลทำงานได้ไม่กี่ปีก็ลาออกไปเป็นแม่บ้าน ส่วนปัญหาอื่นๆ คือ ระบบบริการสุขภาพในบ้านเราที่เป็นการรักษาแบบประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม หรือประกันสุขภาพเป็นระบบที่เราประสบภาวะขาดทุนตลอดทุกปี ปีหนึ่งหลายร้อยล้าน แต่เราก็ยังอยู่ได้ สาเหตุสำคัญคือ เราได้คนบริจาคมาช่วย มูลนิธิรามาธิบดีฯ ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยคณะแพทยศาสตร์ให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากไร้ หรือไม่มีเงินที่จะจ่าย ทำให้เราสามารถให้การบริการโดยไม่ติดขัด และยังมีส่วนช่วยในเรื่องการผลิตบัณฑิตในสาขาต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนการวิจัย เพื่อหาวิธีการรักษาโรคยากๆ เช่น สเต็มเซลล์ ในการรักษามะเร็งเม็ดโลหิต ขณะเดียวกัน มูลนิธิฯก็สนับสนุนสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ทั้งในเรื่องการก่อสร้าง มีอาคารทั้งหมด 16 อาคาร เราต้องใช้เงินประมาณ 15,000 ล้านบาท แต่เงินที่ได้จากงบประมาณจริงขณะนี้มีเพียง 6,000 ล้านบาท โชคดีที่สามารถระดมเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจากผู้มีจิตศรัทธาของประชาชน แม้แต่คณะแพทยศาสตร์ของเราก็ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐเพียง 20% คือถ้าเราใช้จ่าย 100 บาท เราได้มาจากทางรัฐ 20 บาท ถ้าไม่มีการสนับสนุนจากประชาชนผ่านมูลนิธิฯเราก็คงอยู่ไม่ได้
· ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดี
· ผู้ก่อตั้งโครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน
“โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน” ก่อตั้งขึ้นร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย โรงพยาบาลน้ำพอง และโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และโรงพยาบาลที่สนใจเข้าร่วม 19 แห่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเครือข่ายของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลชุมชนในการทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองที่เข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ เพื่อช่วยเหลือให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 – 31 ธันวาคม 2565 ใช้งบประมาณมากกว่า 100 ล้านบาท แบ่งเป็นการสนับสนุนสร้างศูนย์เรียนรู้และโครงการพิเศษ จัดอบรมหลักสูตรสร้างนักบริบาลชุมชนให้แก่จิตอาสาแต่ละชุมชน เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพสามารถเข้าถึงผู้คนในชุมชนได้อย่างแท้จริง การก่อสร้างและจัดซื้ออุปกรณ์ให้ห้องพักผู้ป่วยและศูนย์เรียนรู้ รวมถึงพัฒนาระบบการเรียนการสอนและการบริหารจัดการโรงพยาบาล ตลอดจนทุนการศึกษา ทุนวิจัย สำหรับนักศึกษาแพทย์ และเครือข่ายชุมชนนักวิจัย ปัจจุบันมีผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง เป้าหมาย 4,000 คน ผู้พิการ 400 คน ผู้ป่วยติดเตียง 80 คน และสมาชิกในชุมชนนับหมื่นคน โครงการนี้จะเป็นต้นแบบให้แก่โรงเรียนแพทย์อื่นๆ บุคลากรการแพทย์การสาธารณสุขและนักบริบาลชุมชนที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ จะเป็นกำลังสำคัญของชุมชนให้เติบโตและช่วยเหลือสังคม และจะขยายวงไปยังชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป
8. ความภาคภูมิใจและรางวัลเกียรติยศที่ได้รับ
8.1 ความภาคภูมิใจ
ความภูมิใจของผม คือการถ่ายทอดความรู้ และทำให้เกิดแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถออกไปรับใช้สังคม เพราะเป็นครูแพทย์มาตลอดชีวิต แม้จะขึ้นมาเป็นผู้บริหารก็ยังมุ่งหวังอยากจะผลิตบัณฑิตที่เก่ง ดี และมีศักยภาพสูง ที่สำคัญต้องมีความรู้ความเข้าใจด้านการวิจัยที่จะแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ คือเป็นหมอออกไปอยู่ชุมชนต้องเก่งหลายด้าน เราต้องเป็นผู้นำชุมชนด้วย ต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นในชุมชนที่เราไปอยู่
งานใดก็ตามถ้าเราจะทำให้มันดี หรือประสบความสำเร็จ จะต้องมีความหลงใหล สมัยนี้เขาใช้คำว่า passion กับงาน เพราะฉะนั้นตอนไปเป็นแพทย์ใช้ทุน คนเป็นหมอก็ต้องมีความสนุกกับงานดูแลประชาชน การได้ออกชุมชน และเมื่อกลับมาเป็นอาจารย์ก็ต้องสนุกกับการสอน ถ้าถามผมแล้ว จริงๆไม่ได้รู้สึกเหนื่อยกับงาน ถ้าเราสนุกกับงานก็ไม่ได้เป็นความทุกข์ นอกจากนี้เรายังมีความสุขจากการที่รักษาคนไข้ให้หาย หมอทุกคนเป็นอย่างนี้ เวลาที่เราได้ช่วยเหลือคนอื่น ความสุขที่เราได้เห็นคนพ้นทุกข์ มันเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจ!! หมอจำนวนมากที่นัดลูกนัดภรรยาไว้ แต่ถ้ามีคนไข้มาก็เอาคนไข้ก่อน ถ้าถามว่าทำได้โดยไม่เป็นทุกข์เหรอ ก็ตอบได้เลยว่าไม่ทุกข์ เพราะสิ่งตอบแทนคืนมาในการช่วยคนนั้นเป็นรางวัล เป็นสิ่งหนึ่งที่ครอบครัวของหมอก็ต้องเข้าใจด้วย ความรู้สึกนี้เป็นการรีเทิร์นที่ตัวเอง ไม่ใช่เป็นการเสียสละอะไรยิ่งใหญ่ เพราะเป็นสิ่งที่ทำแล้วตัวเองรู้สึกดีเอง ไม่ใช่เราไปสละแล้วเราเป็นทุกข์ คนที่เป็นหมอได้นาน เป็นเพราะเขารู้สึกดีเวลาได้ทำเพื่อคนอื่น ไม่ได้ทำแล้วเป็นทุกข์
8.2 รางวัลและเกียรติยศที่เคยได้รับ
• ทุน British Council เพื่อศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักร
• แพทย์ดีเด่นด้านวิชาการของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยประจำปี
• ศิษย์เก่าดีเด่น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
• เมธีวิจัย อาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว)
• คนดีศรีอำนวยศิลป์
• ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS)
• กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
• กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข