เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ดร.ประสิทธิ์ ทีฆพุฒิ ประธานมูลนิธิ และทีมจิตอาสา ได้เดินทางไปวัดจากแดง ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เพื่อนำขยะขวดพลาสติกใส PET ถุงพลาสติกใส แก้วกาแฟ หลอดดูดน้ำพลาสติก กล่องใส่ขนมและอาหารแบบเดลิเวอรี่ กล่องนม UHT โฟมห่อผลไม้ ที่ผ่านการใช้งานแล้ว นำมาทำความสะอาดเบื้องต้น แล้วรวบรวมนำไปบริจาค พร้อมได้ร่วมบริจาคเงินทำบุญกับทางวัดจากแดง ซึ่งปัจจุบัน (ในช่วงสถานการณ์โควิด-19) มีพระภิกษุบวชเรียน ประมาณ 51 รูป วัดจากแดง เป็นสถานที่ที่มีความพร้อม (เป็นศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อม การคัดแยกขยะ การแปรรูปเศษอาหาร การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ฯลฯ) ในการนำขยะพลาสติก โฟม กล่องนม UHT เหล่านี้ นำไปสู่กระบวนการรีไซเคิลที่เหมาะสม เป็นการช่วยลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการทำลายระบบนิเวศ และยังช่วยลดภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี และยังเป็นการสร้างงานให้กับชุมชนอีกด้วย
ขยะพลาสติกที่นำไปบริจาคครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็น ขวดพลาสติกใสที่ใช้บรรจุน้ำดื่ม หรือที่เรานิยมเรียกกันว่า ขวด PET (Polyethylene Terephthalate : โพลีเอทิลีน เทเรฟทาเลต) ซึ่งเป็นพลาสติกที่เหมาะสำหรับนำไป Recycle เพื่อทอเป็น ผ้าไตรจีวร หรือ ผ้าบังสุกุล โดยใช้นวัตกรรมผสม ซิงค์ นาโน (Zinc Nano) ที่สามารถป้องกันแบคทีเรีย ลดกลิ่นอับ มีความนุ่ม ระบายอากาศได้ดี เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนอบอ้าวในเมืองไทย กระบวนการทำขยะพลาสติกให้กลายเป็น “จีวรรีไซเคิล” 1 ผืน จะต้องใช้ขยะประเภทขวดพลาสติก PET จำนวน 15 ขวด และถ้าเป็นผลิตเป็นผ้าไตรจีวร 1 ชุด จะต้องใช้ขวด PET จำนวน 60 ขวด โดยใช้เทคโนโลยี Upcycling ซึ่งเป็นนวัตกรรมการแปรรูปขยะให้เป็นเส้นใยรีไซเคิล แล้วจึงถักทอผสมผสานกับเส้นใย Polyester Rayon เส้นใยฝ้าย และเส้นใย โพลีเอสเตอร์ ซิงค์ แอนตี้แบคทีเรีย (Polyester Zinc Antibacterial) ที่สามารถป้องกันแบคทีเรีย ลดกลิ่นอับ มีความนุ่ม ระบายอากาศได้ดี เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนอบอ้าวในเมืองไทย
ถุงพลาสติกใส แก้วกาแฟ หลอดดูดน้ำ ฝาขวดน้ำพลาสติก ฉลากพลาสติก ถุงก๊อบแก๊บ กล่องใส่ขนมและอาหารแบบเดลิเวอรี่ ที่ผ่านการใช้งานแล้ว สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถบรรทุก และเครื่องจักรกลที่ใช้ในการเกษตร
โฟมที่ใช้ห่อหุ้มผลไม้ หรือกล่องโฟมใส่ขนมและอาหาร สามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตวัสดุก่อสร้างได้ เช่น ก้อนอิฐ โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น
กล่องนม UHT หรือกล่องใส่กะทิ หรือกล่องใส่นมเปรี้ยว ก็สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นฝากั้นห้อง ทำกุฏิพระจากกล่องนม ที่เรียกว่า กุฏิรีไซเคิล ที่ช่วยลดอุณหภูมิห้องสำหรับประเทศไทยที่มีอากาศร้อนอบอ้าว
การดำเนินโครงการร่วมใจรักษ์สิ่งแวดล้อมครั้งที่ 6 นี้ เป็นโครงการสืบเนื่องที่มูลนิธิ มสวท. ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกที่ 4 องค์กรและหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่งยังใช้นโยบายทำงานจากที่บ้าน (work from home) รวมถึงนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่เรียนหนังสือผ่านออนไลน์ เพื่อลดการแพร่เชื้อ โควิด 19 โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มียอดผู้ติดเชื้อจำนวนมากกว่าพื้นที่อื่นๆในประเทศ พฤติกรรมผู้บริโภคของประชาชนส่วนใหญ่ นิยมสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่มแบบเดลิเวอรี่กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกและโฟมเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ดังนั้น ดร.ประสิทธิ์ และทีมงานจิตอาสา จึงได้ร่วมกันดำเนินการเก็บ รวบรวม และคัดแยกขยะพลาสติกและกล่องโฟมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพื่อนำไปบริจาคที่วัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเข้าสู่กระบวนกำจัดขยะเหล่านี้ให้เป็นผลผลิตใหม่ ที่นำกลับมาให้ใช้งานได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างงานให้กับคนยากจนและด้อยโอกาสที่วัดจากแดงได้ดูแล ถือว่าเป็นวิธีการกำจัดขยะที่ถูกสุขลักษณะและเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ ซึ่งหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ สามารถนำวิธีการนี้ไปเป็นตัวอย่างในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไป