ดร.ประสิทธิ์ ทีฆพุฒิ ประธานมูลนิธิ และทีมจิตอาสา ได้เดินทางไปวัดจากแดง ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2564 เพื่อนำขยะขวดพลาสติกใส PET ถุงพลาสติกใสที่ใช้แล้ว แก้วน้ำดื่มพลาสติก หลอดดูดกาแฟ กล่องนม ข้อน-ส้อม จาน โฟมใส่อาหาร ตาข่ายโฟมห่อผลไม้ ไปบริจาคให้กับทางวัดจากแดงเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตจีวรนาโน น้ำมันเชื้อเพลิง หลังคาและผนังบ้านจากกล่องนม อิฐมวลเบาและม้านั่งที่ทำจากวัสดุโฟม ฯลฯ และยังได้ร่วมบริจาคเงินทำบุญกับทางวัด ซึ่งปัจจุบันมีพระภิกษุบวชเรียน ประมาณ 60 รูป ซึ่งการบริจาคฯในครั้งนี้ดำเนินการภายใต้โครงการร่วมใจรักษ์สิ่งแวดล้อมครั้งที่ 4

  

 

วัดจากแดง สร้างประมาณปี พ.ศ. 2325 ชื่อ จากแดง สันนิษฐานว่า มาจากคำว่า จากแตน หมายถึง หมู่บ้านของประชาชนที่อพยพมาจากที่อยู่เดิมในอยุธยา ต่อมาเพี้ยนเสียงเป็น จากแดง มีปูชนียวัตถุโบราณที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธรูป หลวงพ่อหิน และ ธัมเมกขสถูป พระสมันตมหาปัฏฐานเจดีย์ ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่มีความงดงดงามตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน วัดจากแดง นอกจากจะเป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางพุทธศาสนาแล้ว ยังจัดให้มีสถานที่ปฏิบัติธรรม สำนักเรียนพระอภิธรรม (ภาษาบาลี เพื่อการศึกษาพระไตรปิฏก ที่วัดและทางออนไลน์) ให้กับพระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไป และยังมีศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมให้เยาวชนและประชาชนได้เข้าไปศึกษาอีกด้วย

 

 

ขยะพลาสติกที่นำไปบริจาคครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็น ขวดพลาสติกใสที่ใช้บรรจุน้ำดื่ม หรือที่เรานิยมเรียกกันว่า ขวด PET (Polyethylene Terephthalate : โพลีเอทิลีน เทเรฟทาเลต) ซึ่งเป็นพลาสติกที่เหมาะสำหรับนำไป Recycle เพื่อทอเป็น ผ้าไตรจีวร หรือ ผ้าบังสุกุล โดยใช้นวัตกรรมผสม ซิงค์ นาโน (Zinc Nano) ที่สามารถป้องกันแบคทีเรีย ลดกลิ่นอับ มีความนุ่ม ระบายอากาศได้ดี เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนอบอ้าวในเมืองไทย กระบวนการทำขยะพลาสติกให้กลายเป็น “จีวรรีไซเคิล” 1 ผืน จะต้องใช้ขยะประเภทขวดพลาสติก PET จำนวน 15 ขวด และถ้าเป็นผลิตเป็นผ้าไตรจีวร 1 ชุด จะต้องใช้ขวด PET จำนวน 60 ขวด โดยใช้เทคโนโลยี Upcycling ซึ่งเป็นนวัตกรรมการแปรรูปขยะให้เป็นเส้นใยรีไซเคิล แล้วจึงถักทอผสมผสานกับเส้นใย Polyester Rayon เส้นใยฝ้าย และเส้นใย โพลีเอสเตอร์ ซิงค์ แอนตี้แบคทีเรีย (Polyester Zinc Antibacterial) ที่สามารถป้องกันแบคทีเรีย ลดกลิ่นอับ มีความนุ่ม ระบายอากาศได้ดี เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนอบอ้าวในเมืองไทย

                                                               

นอกเหนือจากขยะขวด PET แล้ว ทีมงานจิตอาสายังได้รวบรวมขยะพลาสติกอื่นๆ ได้แก่ ถ้วยและขวดพลาสติกสีขุ่น ฝาขวดน้ำดื่ม ป้ายฉลากติดขวด ถุงพลาสติกใสที่ผ่านการใช้งานแล้ว ซึ่งขยะพลาสติกเหล่านีสามารถนำไปผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยกระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) ทำให้ขยะพลาสติกเหล่านี้ไม่เป็นขยะไร้ค่า สามารถนำกลับมาใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงในกิจกรรมเผาศพในวัด หรือ นำไปใส่ในเครื่องจักรกลที่ใช้งานในด้านการเกษตร เป็นต้น

พลาสติก สามารถนำใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้หลากหลายประเภท หลากหลายประโยชน์มากมาย แต่ขยะพลาสติกนั้นใช้เวลายาวนานกว่า 450 ปี ในการย่อยสลาย ดังนั้น หากทุกคนช่วยกันคัดแยก และเก็บรวบรวมขยะพลาสติก แล้วส่งต่อไปยังสถานที่ที่มีความสามารถในการแปรรูปหรือนำขยะพลาสติกเหล่านี้กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้อีก ย่อมเป็นการใช้ประโยชน์จากพลาสติกได้อย่างคุ้มค่า (เพราะทรัพยากรในโลกนี้มีอยู่จำกัด) เป็นการช่วยลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการทำลายระบบนิเวศ และยังช่วยลดภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี

การดำเนินโครงการร่วมใจรักษ์สิ่งแวดล้อมครั้งที่ 4 นี้ เป็นโครงการสืบเนื่องที่มูลนิธิ มสวท. ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกที่ 3 รัฐบาลได้ขอความร่วมมือให้องค์กรและหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนให้ใช้นโยบายทำงานจากที่บ้าน (work from home) รวมถึงนักเรียน นิสิต นักศึกษา ก็ให้เรียนหนังสือผ่านออนไลน์ด้วยเช่นกัน เพื่อลดการแพร่เชื้อ โควิด 19 โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มียอดผู้ติดเชื้อจำนวนมากกว่าพื้นที่อื่นๆในประเทศ ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครเปลี่ยนแปลงไป โดยประชาชนส่วนใหญ่นิยมหันมาสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่มแบบเดลิเวอรี่กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกและโฟมเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ดังนั้น ดร.ประสิทธิ์ และทีมงานจิตอาสา จึงได้ร่วมกันดำเนินการเก็บ รวบรวม และคัดแยกขยะพลาสติกและกล่องโฟมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพื่อนำไปบริจาคที่วัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเข้าสู่กระบวนกำจัดขยะเหล่านี้ให้เป็นผลผลิตใหม่ ที่นำกลับมาให้ใช้งานได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างงานให้กับคนยากจนและด้อยโอกาสที่วัดจากแดงได้ดูแล ถือว่าเป็นวิธีการกำจัดขยะที่ถูกสุขลักษณะและเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ ซึ่งหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ สามารถนำวิธีการนี้ไปเป็นตัวอย่างในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไป ประเทศไทยจะมีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สถานที่ติดต่อ :

288/52 อาคารมูลนิธิ มสวท. ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220

Tel. +66(0) 2552-5200 Fax. +66(0) 2551-4422 Email : thaifstt@gmail.com 

Copyright © 2008-2015 หากมีปัญหาในการรับชมกรุณาติดต่อ Webmaster ที่ admin@thaifstt.org