โครงการร่วมใจรักษ์สิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2
ดร.ประสิทธิ์ ทีฆพุฒิ ประธานมูลนิธิ และทีมจิตอาสา ได้เดินทางไปบริจาคขยะพลาสติกและโฟม ที่ใช้แล้วทิ้งในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ถุงพลาสติกใสที่ใช้แล้ว แก้วน้ำดื่มพลาสติก หลอดดูดกาแฟ จานโฟมใส่อาหาร ตาข่ายโฟมห่อผลไม้ เป็นต้น และได้ร่วมบริจาคเงินทำบุญที่วัดจากแดง ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2563 (ปัจจุบันวัดจากแดง มีพระภิกษุและสามเณรจำวัดประมาณ 60 รูป)
โครงการร่วมใจรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นโครงการหนึ่งที่ ดร.ประสิทธิ์ ประธานมูลนิธิ มสวท. และทีมงานจิตอาสา ได้เล็งเห็นถึงปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันจำนวนมหาศาล อันสืบเนื่องมาจากนโยบายทำงานจากที่บ้าน (work from home) ของภาครัฐและเอกชน เพื่อรองรับมาตรการ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เพื่อลดการแพร่ระบาดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา (Covid-19) ที่ประเทศไทยประสบตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2563 ซึ่งจะสร้างปริมาณขยะพลาสติกและขยะโฟมที่ใช้บรรจุอาหารและเครื่องดื่มจำนวนมหาศาล ดร.ประสิทธิ์ และทีมงานจิตอาสา จึงได้ร่วมกันดำเนินการเก็บ รวบรวม และคัดแยกขยะพลาสติกและกล่องโฟมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพื่อนำไปบริจาคที่วัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2563
สำหรับขยะส่วนใหญ่ที่นำไปบริจาค จะเป็นขวดพลาสติกใสที่ใช้บรรจุน้ำดื่ม หรือที่เรานิยมเรียกกันว่า ขวด PET (Polyethylene Terephthalate : โพลีเอทิลีน เทเรฟทาเลต) ซึ่งเป็นพลาสติกที่เหมาะสำหรับนำไป Recycle เพื่อทอเป็น ผ้าไตรจีวร หรือ ผ้าบังสุกุล โดยใช้นวัตกรรมผสม ซิงค์ นาโน (Zinc Nano) ที่สามารถป้องกันแบคทีเรีย ลดกลิ่นอับ มีความนุ่ม ระบายอากาศได้ดี เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนอบอ้าวในเมืองไทย
กระบวนการทำขยะพลาสติกให้กลายเป็น “จีวรรีไซเคิล” 1 ผืน จะต้องใช้ขยะประเภทขวดพลาสติก PET จำนวน 15 ขวด และถ้าเป็นผลิตเป็นผ้าไตรจีวร 1 ชุด จะต้องใช้ขวด PET จำนวน 60 ขวด โดยใช้เทคโนโลยี Upcycling ซึ่งเป็นนวัตกรรมการแปรรูปขยะให้เป็นเส้นใยรีไซเคิล แล้วจึงถักทอผสมผสานกับเส้นใย Polyester Rayon เส้นใยฝ้าย และเส้นใย โพลีเอสเตอร์ ซิงค์ แอนตี้แบคทีเรีย (Polyester Zinc Antibacterial) ที่สามารถป้องกันแบคทีเรีย ลดกลิ่นอับ มีความนุ่ม ระบายอากาศได้ดี เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนอบอ้าวในเมืองไทย
พลาสติก สามารถนำใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้หลากหลายประเภท หลากหลายประโยชน์มากมาย แต่ขยะพลาสติกนั้นใช้เวลายาวนานกว่า 450 ปี ในการย่อยสลาย ดังนั้น หากทุกคนช่วยกันคัดแยก และเก็บรวบรวมขยะพลาสติก แล้วส่งต่อไปยังสถานที่ที่มีความสามารถในการแปรรูปหรือนำขยะพลาสติกเหล่านี้กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้อีก ย่อมเป็นการใช้ประโยชน์จากพลาสติกได้อย่างคุ้มค่า (เพราะทรัพยากรในโลกนี้มีอยู่จำกัด) เป็นการช่วยลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และลดปริมาณการทำลายระบบนิเวศได้อีกด้วย