โครงการร่วมใจรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

ดร.ประสิทธิ์ ทีฆพุฒิ ประธานมูลนิธิ และทีมจิตอาสา ได้เล็งเห็นปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น จากนโยบายทำงานจากที่บ้าน (work from home) อันเนื่องมาจากมาตรการ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ซึ่งจะสร้างปริมาณขยะพลาสติกและขยะโฟมจำนวนมาก จึงได้ริเริ่มทำ โครงการร่วมใจรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเริ่มที่ตนเองและทีมงานจิตอาสา ช่วยกันเก็บ รวบรวม และคัดแยกขยะพลาสติกและกล่องโฟมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพื่อนำไปบริจาคที่วัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ ในวันที่ 6 มิถุนายน 2563 เพื่อให้ทางวัดได้นำขวดพลาสติก PET เหล่านี้ ไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อทอเป็น ผ้าไตร หรือ ผ้าบังสุกุล โดยใช้นวัตกรรมผสม ซิงค์ นาโน (Zinc Nano) ต่อไป

 





สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562  มีมติเห็นชอบการงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยเป็นนโยบายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินงานเพื่อลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastic) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 (Thailand's Roadmap on Plastic Waste Management 2018 - 2030)

ประกอบกับ ต้นปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยมีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)) ทำให้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ประชาชนได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจมีผลกระทบอย่างมาก รัฐบาลจึงได้มีมาตรการขอความร่วมมือให้ประชาชนปรับพฤติกรรมการอยู่ร่วมกัน ให้ความสำคัญกับการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) งดกิจกรรมทางสังคม เน้นอยู่บ้านให้มากที่สุดตามนโยบาย "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" ซึ่งผลจากการหยุดทำกิจกรรมนอกบ้าน ของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ให้ข้าราชการ พนักงานของรัฐ และพนักงานบริษัท องค์กรต่างๆ ทำงานจากที่บ้าน (Work from home) งดการจัดกิจกรรมทุกประเภท และมีมาตรการเข้มงวดกับภาคประชาชนในการเดินทางข้ามจังหวัด ทำให้ประชาชนออกจากบ้านน้อยลง และนิยมหันมาสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่มแบบเดลิเวอรี่กันมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่เพิ่มปริมาณขยะจำนวนมาก โดยเฉพาะขยะพลาสติก เช่น ขวดน้ำดื่ม แก้วพลาสติก ช้อนส้อม หลอดดูด กล่องใส่อาหารพลาสติก และขยะกล่องโฟมสำหรับใส่อาหาร เป็นต้น

 กระบวนการทำขยะพลาสติกให้กลายเป็น “จีวรรีไซเคิล” 1 ผืน จะต้องใช้ขยะประเภทขวดพลาสติก PET จำนวน 15 ขวด และถ้าเป็นผลิตเป็นผ้าไตรจีวร 1 ชุด จะต้องใช้ขวด PET จำนวน 60 ขวด โดยใช้เทคโนโลยี Upcycling ซึ่งเป็นนวัตกรรมการแปรรูปขยะให้เป็นเส้นใยรีไซเคิล แล้วจึงถักทอผสมผสานกับเส้นใย Polyester Rayon เส้นใยฝ้าย และเส้นใย โพลีเอสเตอร์ ซิงค์ แอนตี้แบคทีเรีย (Polyester Zinc Antibacterial) ที่สามารถป้องกันแบคทีเรีย ลดกลิ่นอับ มีความนุ่ม ระบายอากาศได้ดี เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนอบอ้าวในเมืองไทย


มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สถานที่ติดต่อ :

288/52 อาคารมูลนิธิ มสวท. ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220

Tel. +66(0) 2552-5200 Fax. +66(0) 2551-4422 Email : thaifstt@gmail.com 

Copyright © 2008-2015 หากมีปัญหาในการรับชมกรุณาติดต่อ Webmaster ที่ admin@thaifstt.org