5) บุคคลคุณภาพแห่งปี 2018 ด้านเด็กและเยาวชน
คุณนิรมล เมธีสุวกุล (อายุ 57 ปี)
ผู้หญิงหัวใจแกร่ง พิธีกรและผู้ผลิตสื่อสาธารณะเพื่อประโยชน์แก่สังคม
ด้านพัฒนาเยาวชนและสิ่งแวดล้อม
1. หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน
1. พิธีกรและผู้ควบคุมการผลิตรายการสารคดี “ทุ่งแสงตะวัน” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535- ปัจจุบัน
2. กรรมการและผู้ก่อตั้ง บริษัทป่าใหญ่ ครีเอชั่น จำกัด
3. พิธีกรและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและโรงเรียนในถิ่นธุรกันดาร
4. พิธีกรและผู้ควบคุมการผลิตรายการ “วัยอันตรายเด็กกล้าดี” ออกอากาศช่อง 13 แฟมิลี่
2. ประวัติการศึกษา
ปริญญาตรี นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน
งานสื่อสารมวลชน เป็นงานที่มีภารกิจให้ความรู้ ความคิด แก่สาธารณะ ผู้ผลิตงานต้องมีความรู้ ความสามารถและความรับผิดชอบ และร่วมขับเคลื่อนสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม
4. ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน
ผลิตรายการสารคดีที่มีคุณค่าแก่เด็กและเยาวชนตลอดระยะเวลา 36 ปีที่ผ่านมาในฐานะผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตสื่อสาธารณะ
5. ทรรศนะต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้สาธารณะตระหนักถึงความจริงที่พิสูจน์ได้ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและเหมาะสมช่วยมนุษยชาติแก้ปัญหาต่างๆของโลกและสังคม
6. กิจการอันเป็นคุณประโยชน์เพื่อสังคม สาธารณกุศล
· ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างบุคลากรคุณภาพออกสู่สังคม
· ผู้ผลิตสื่อสาธารณะที่อุทิศตนผลิตรายการคุณภาพเพื่อประโยชน์ต่อสังคมในด้านการพัฒนาเยาวชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
คุณนิรมล เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเริ่มทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น เป็นผู้สื่อข่าวฝึกหัดประจำทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภานักข่าวสายทั่วไป เน้นด้านเด็กสตรีและองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจช่อง 7 เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักตั้งแต่ พ.ศ. 2528 โดยเป็นผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ บริษัท แปซิฟิคอินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น ผลิตข่าวให้ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ภายใต้การดูแลของ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2532 คุณนิรมลได้หันมาจับงานพิธีกรเขียนบทสารคดีรายการ “ทุ่งหญ้าป่าใหญ่” ทางช่อง 7 ก่อนที่ในปี พ.ศ.2534 จะย้ายมาทำรายการ “ทุ่งแสงตะวัน” ทางช่อง 3 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งการเปลี่ยนแนวทางการทำงาน ทำให้คุณนิรมลได้มีโอกาสเดินทางและเรียนรู้โลกกว้างตามสถานที่ต่างๆในประเทศไทยที่คนกรุงเทพแม้แต่คนต่างจังหวัดเองก็ไม่เคยสัมผัสหรือได้รับรู้มาก่อน การทำงานนี้ทำให้เธอได้ทำงานในหลายรูปแบบ ต้องอุทิศตนสละความความสุขส่วนตัวมาใช้ชีวิตแบบติดดิน เพราะความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทก็มีข้อจำกัดและอุปสรรคมากมายให้ฝ่าฟัน โดยเฉพาะการปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตในชนบท เช่น อาหารการกิน ที่อยู่หลับนอน สภาพดินฟ้าอากาศ วัฒนธรรม ภาษาท้องถิ่น รวมถึงการเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวชนบท ฯลฯ การทำงานกับชาวบ้านและเด็กๆ ต้องอาศัยความอดทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยต่อการถ่ายทำ ประกอบกับในช่วง 2-3 ปีแรกของการทำงานนี้ คุณนิรมลต้องศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาเด็ก โดยเข้าไปพบหมอเด็กเพื่อพูดคุยหาข้อมูล รวมทั้งค้นคว้าวิจัยด้วยตัวเองเกี่ยวกับเด็ก เพื่อให้สามารถเข้าถึงเด็กได้ดีและลึกซึ้ง ในการทำงานกับเด็กจำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กันมากกว่า เพราะเรื่องบางเรื่องเด็กในชนบทจะรู้ดีกว่าก็ให้พวกเขาเล่าให้ฟัง ส่วนเรื่องบางเรื่องที่คุณนิรมลรู้ (ความรู้เชิงวิชาการ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี แนวคิดสมัยใหม่ ฯลฯ) ก็จะเป็นผู้ถ่ายทอดและปลูกฝังให้พวกเด็กๆ สิ่งที่คุณนิรมลได้สัมผัสและเรียนรู้ คือ เข้าใจธรรมชาติมากขึ้น และรู้จักการใช้ประโยชน์ของธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า ซึ่งเราควรจะรณรงค์เรื่องเหล่านี้ให้มาก เพื่อให้คนทั่วไปเป็นผู้บริโภคที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนพืชผักพื้นบ้าน หรือสนับสนุนอาหารที่ไม่รุกรานทำลายธรรมชาติ
· รายการทุ่งแสงตะวัน (ออกอากาศในปี พ.ศ.2535- ปัจจุบัน)
เป็นรายการสารคดีที่ประกอบด้วยเรื่องราวของวิถีชีวิตมนุษย์ การหาอยู่หากิน เรื่องของสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรมในพื้นที่ชนบทของประเทศไทย โดยนำเสนอผ่านตัวเด็ก เพื่อให้เป็นรายการที่ดูเบาสบายๆ เด็กจะเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวหรือกิจกรรมที่เด็กทำกันจริง จะไม่พูดถึงปัญหาที่หนักเกินไป เพราะเด็กยังไม่มีบทบาท หรือเข้าใจในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีพอ รายการนี้ในช่วงแรกๆผู้ผลิตต้องการให้เป็นรายการสารคดีสำหรับเด็ก แต่เนื่องจากมีกระแสตอบรับจากคนดูทั่วไปที่ให้ความสนใจ จึงได้ขยายกลุ่มเป้าหมายเป็น ประชาชนทั่วไทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่สนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อม เด็กก็จะดูเพื่อนในวัยเดียวกันว่าทำกิจกรรมอะไรบ้าง ส่วนผู้ใหญ่ก็ชวนระลึกถึงอดีตในวัยเด็ก วัตถุประสงค์ของรายการนี้ เพื่อต้องการสื่อให้ผู้ชมเห็นถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและร่วมกันดูแลเอาใจใส่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งเพื่อให้คนในท้องถิ่น เกิดความภาคภูมิใจตัวเอง และเกิดความหวงแหนธรรมชาติในถิ่นที่อยู่ นอกจากนั้น ก็เพื่อให้เด็กมีความรู้สึกผูกพันกับธรรมชาติ และมีความคิดสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆด้วยตัวเอง
การทำรายการ ทุ่งแสงตะวัน ไม่ได้คาดหวังความร่ำรวย ไม่ใช้การตลาดนำ และเนื่องจากเราอยู่อย่างประหยัดมาตั้งแต่แรก เรียนรู้การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงผ่านคลื่นลมช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมาได้อย่างไม่เจ็บตัว ที่ผ่านมาบริษัทป่าใหญ่ ครีเอชั่น ไม่มีกำไรมากนักแต่ไม่เคยขาดทุน และเรายังรักษาจิตวิญาณของเราไว้ได้ คือ ยังคงเป็นบริษัทที่จดจำชื่อเด็กๆและทักทายกันได้ตลอดมา
ผลสะท้อนกลับสู่สังคมจากรายการทุ่งแสงตะวัน ได้มีส่วนสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ พร้อมกับแตกหน่อความคิดเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน วิถีวัฒนธรรมชุมชน สำนึกรักธรรมชาติ และพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของคนตัวเล็กๆในสังคม ซึ่งรายการนี้ยืนหยัดมาได้ร่วม 26 ปี เพราะสามารถตอบโจทย์บางอย่างแก่คนที่กำลังแสวงหาหลักหมายของชีวิต เช่น การจุดประกายให้เด็กๆเหล่านี้เมื่อเติบโตพวกเขาจะรักชุมชนชาวบ้านและเกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่เป็น เด็กที่ออกจากหมู่บ้านมาเรียนหนังสือหรือทำงานในเมืองรายการนี้จะเป็นสื่อกลางเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับชุมชน ทำให้เขามีความหวังว่าสักวันจะได้กลับบ้าน นอกจากนี้ เด็กเมืองกรุงที่ไม่เคยรู้ความแตกต่างระหว่างต้นข้าวกับต้นหญ้า ก็จะได้เปิดโลกกว้างให้กับพวกเขาเชื่อมโยงตนเองกับสิ่งรอบตัวด้วยหัวใจ เป็นต้น
· รายการสารคดี พันแสงรุ้ง (ออกอากาศในปี พ.ศ.2553-2556)
“พันแสงรุ้ง” เป็นรายการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า วิถีชีวิต วัฒนธรรม โดยมีแนวคิดนำเสนอเรื่องราวความหลากหลายอันงดงามของวิถีชีวิต วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆทั่วผืนแผ่นดินไทยและอุษาคเนย์ที่อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน โดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากงานวิจัยวิชาการและการสำรวจข้อมูลจากชุมชน และปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ชาวบ้านอยากจะเล่าให้ฟัง เน้นเนื้อหาถอดเชื่อมโยงความรู้จากนักวิชาการและชุมชมเพื่อสร้างความเข้าใจ นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ คุณนิรมลยอมรับว่า งานสารคดีชิ้นนี้ทีมงานต้องทำงานหนักมาก เพราะต้องทำงานกับนักวิชาการ โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นที่เริ่มเรื่องประวัติศาสตร์ปัตตานี ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ถูกประวัติศาสตร์ระดับชาติกลบไปหมด ทำให้มีการพูดถึงน้อยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เราต้องไปพบกับนักวิชาการ ไปพบกับผู้คนในท้องถิ่นเพื่อให้บอกเล่าเรื่องราวที่คนส่วนใหญ่นอกพื้นที่ไม่ค่อยได้รับรู้ ก็เลยรู้สึกว่าสารคดีชุดนี้เป็นสารคดีที่น่าภาคภูมิใจชุดหนึ่ง และคิดว่าจะต้องทำต่อในอีกหลายๆตอน และหากจะนับความยากของสารคดีพันแสงรุ้ง สิ่งที่ยากที่สุดคือ ข้อมูล ต้องลงพื้นที่สำรวจข้อมูลตามความเป็นจริง ตรวจสอบข้อมูลที่เรามี โดยอุปสรรคที่สำคัญมากคือเรื่องภาษา เพราะภาษาแต่ละกลุ่มภาษามีทั้งยากและง่าย มีทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจ สิ่งที่เราต้องระมัดระวังเหนือกว่านั้นก็คือบางทีเรานึกว่ารู้เรื่อง แต่จริงๆ แล้วกลับไม่รู้เรื่องเลย เพราะฉะนั้นในฐานะคนทำงานด้านสื่อ สิ่งที่เราเห็นอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น มันอาจจะมีเบื้องหลัง มีสิ่งต่างๆ ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจ พี่คิดว่าคนทำงานด้านสื่อไม่ใช่แค่ที่ภาคใต้อย่างเดียวนะ หมายถึงที่อื่นๆ ด้วย จะต้องมีดวงตาที่สามที่ไม่ใช่มองแต่สิ่งที่เห็น แต่ต้องพยายามทำความเข้าใจและมองหาสิ่งที่ไม่เห็นด้วย เพื่อจะได้นำมาถ่ายทอดได้หลายๆมิติ”
7. ความภาคภูมิใจและรางวัลเกียรติยศที่ได้รับ
1. ผู้รายงานข่าวดีเด่น ประเภทข่าวและสถานการณ์ปัจจุบัน รายการโทรทัศน์ทองคำ ปี พ.ศ. 2532
2. รางวัลนิสติเก่าดีเด่น นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รุ่น 15) ประจำปี พ.ศ.2534-2536
3. รางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ ปี พ.ศ. 2549 ในฐานะสื่อมวลชนที่มีผลงานเกี่ยวกับภาคใต้ทั้งด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคมวัฒนธรรมและเยาวชน
4. รางวัลสตรีดีเด่นสาขาสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2551
5. รางวัลนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีเด่นและผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ (รายการทุ่งแสงตะวัน) จากกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี พ.ศ. 2553
6. รางวัลประเภทสื่อมวลชน(รายการโทรทัศน์)ดีเด่น ปี2556 รายการนิยมไทยดีเด่น สมาคมนิยมไทย
7. รายการทุ่งแสงตะวัน ได้รับรางวัล
· รายการโทรทัศน์ดีเด่น พ.ศ. 2535-2536 จากสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย
· ผลงานสื่อมวลชนดีเด่นเพื่อเยาวชน พ.ศ.2534-2535, พ.ศ.2538-2539, พ.ศ.2539-2540 จากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ
· สารคดีสำหรับเด็กและเยาวชนดีเด่น รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ปี พ.ศ.2535
· สารคดีสำหรับเด็กและเยาวชนดีเด่น รางวัลเมขลา ปี พ.ศ.2535
· สารคดีสำหรับเด็กและเยาวชนดีเด่น ชมรมสภาวะแวดล้อมสยาม ปี พ.ศ.2535, 2536, 2537
· รายการเพื่อสิ่งแวดล้อมดีเด่น ปี 2536 ชมรมสภาวะแวดล้อมสยาม
· รางวัล Award of Special Commendation จากการประกวดแข่งขันรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชนในงาน Japan Prize ครั้งที่ 21 ณ ประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ.2537
· รายการสารคดียอดนิยมจากสถานีวิทยุเรดิโอโหวต (93.5 เมกะเฮิร์ตซ์) Vote Awards 1993, 1994, 1995, 1996
· สารคดีสำหรับเด็กและเยาวชนดีเด่น โทรทัศน์ทองคำ ปี พ.ศ.2539
· รายการโทรทัศน์ซึ่งได้ให้ความสนใจในการรณรงค์เพื่อรักษาสภาวะแวดล้อมที่ดีของประเทศไทย ปี พ.ศ.2541 ชมรมสภาวะแวดล้อมสยาม
8. รายการ “ริมระเบียง” ได้รับรางวัล
· สารคดีสำหรับเด็กและเยาวชนดีเด่น รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ปี พ.ศ. 2537
· ผลงานสื่อมวลชนดีเด่นเพื่อเยาวชน พ.ศ.2537 จากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ
9. รายการ “ขบวนการคุณสะอาด”
· สื่อมวลชนดีเด่น เพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม รางวัลดีเด่นประเภทสารคดีสั้น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2541
· รายการโทรทัศน์ซึ่งได้ให้ความสนใจในการรณรงค์เพื่อรักษาสภาวะแวดล้อมที่ดีของประเทศไทย ปี พ.ศ.2541 ชมรมสภาวะแวดล้อมสยาม
8. ประวัติการทำงาน
ประวัติการทำงาน
· ผู้สื่อข่าวสายเด็กและสตรี เดอะเนชั่น รีวิว
· ผู้สื่อข่าวฝึกหัดประจำทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภานักข่าวสายทั่วไป เน้นด้านเด็กสตรีและองค์กรพัฒนาเอกชน
· ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7
· ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ บริษัท แปซิฟิคอินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น ผลิตข่าวให้ ช่อง 9 องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.)
· พิธีกรและเขียนบทรายการ ทุ่งหญ้าป่าใหญ่ ปี พ.ศ. 2532 ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7
· บรรณาธิการข่าวและผู้ประกาศข่าวบริษัทอีเอ็มนิวส์ ผลิตข่าวให้สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
· พิธีกรและผู้ควบคุมการผลิตรายการสารคดี “ทุ่งแสงตะวัน” ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 แล้วย้ายไปออกอากาศทาง สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบัน
· พิธีกรรายการ “พันแสงรุ้ง” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในปี พ.ศ.2553-2556
· ผู้ประกาศข่าว ช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ช่อง 3 (ช่อง 13 แฟมิลี่)
************************