1) บุคคลคุณภาพแห่งปี 2018 ด้านวิทยาศาสตร์
ศาสตราจารย์ ดร. เสาวภา อังสุภานิช (อายุ 64 ปี)
นักวิจัยผู้ค้นพบสัตว์พื้นใต้น้ำชนิดใหม่ของโลก 15 ชนิด
1. หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน
1.อดีตรองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (พ.ศ. 2556-2560)
2.ศาสตราจารย์ระดับ 10 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 – ปัจจุบัน
3.คณะกรรมการบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา
4.คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
5.คณะกรรมการสภาวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
6.คณะกรรมการประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
7.เป็นวิทยากรบรรยายเทคนิคการเขียนผลงานวิจัยต้นฉบับ(manuscript) มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาและนครศรีธรรมราช
8.เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงานในการขอตำแหน่งทางวิชาการระดับ ผศ. รศ. และ ศ. ให้แก่สถาบันการศึกษาต่างๆ
9.เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัย รายงานการวิจัย และผลงานวิจัยต้นฉบับแก่หน่วยงานและวารสารต่างๆ
10.เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาโทและเอก
2. ประวัติการศึกษา
พ.ศ. 2532 ปริญญาเอก Ph.D. (Aquatic Environmental Science) Kochi University, Japan.
พ.ศ. 2524 ปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2519 ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
3. นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน
· นโยบายในการทำงาน
ในฐานะที่เป็นครู-อาจารย์ มีหน้าที่สั่งสอนและอบรมลูกศิษย์ 3 ด้าน ควบคู่กัน โดยสอนให้มีความรู้ รู้จักการประยุกต์เพื่อสร้างสรรค์งานและพึ่งตนเองได้ อบรมให้มีคุณธรรมและน้ำใจ ตลอดจนดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายและหลีกเลี่ยงอบายมุข
· อุดมการณ์ในการทำงาน
พัฒนาตนเองให้มีความรู้เชิงลึกและเป็นแบบอย่างที่ดี
“ปฏิบัติงานด้วยความกตัญญู ดำรงอยู่ในความซื่อสัตย์
ยืนหยัดสู้งานวิจัย มีวินัยในการสั่งสอนศิษย์
ฝึกจิตให้เป็นครูมืออาชีพ เร่งรีบผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ”
4. ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน
ถ้าถามว่าชอบเป็นครู-อาจารย์หรือไม่ ตอบไม่ถูก รู้สึกเพียงว่ามีความสุขที่ได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์มา 33 ปี ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก มีผลงานวิจัยด้านระบบนิเวศชายฝั่งทะเลอย่างต่อเนื่อง เผยแพร่ผลงานทางวิชาการทั้งระดับชาติและนานาชาติไม่น้อยกว่า 55 เรื่อง ค้นพบสัตว์พื้นใต้น้ำชนิดใหม่ระดับโลก 15 ชนิด โดยเป็นสัตว์ใน Order Tanaidacea Class Crustracea เป็นส่วนใหญ่ (11 ชนิด) เป็นนักวิจัยไทยคนแรกที่ศึกษาสัตว์พื้นใต้น้ำใน Order นี้อย่างจริงจังทั้งด้านอนุกรมวิธานและนิเวศวิทยา ได้เรียบเรียงองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยเป็นหนังสือเกี่ยวกับระบบนิเวศทะเลสาบสงขลาและสัตว์พื้นใต้น้ำกลุ่มหลัก เพื่อเป็นประโยชน์แก่เยาวชน บุคคลทั่วไปทุกระดับ และนักวิชาการได้เข้าใจระบบนิเวศทะเลสาบสงขลายิ่งขึ้น จัดกิจกรรมและเป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศทะเลสาบสงขลาให้แก่เยาวชนท้องถิ่น บุคคลทั่วไป และนักวิชาการ นอกจากนี้ ได้จัดหากล้องจุลทรรศน์คุณภาพสูงและอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการในด้านนิเวศวิทยาชายฝั่งทะเล
รายชื่อสัตว์พื้นใต้น้ำชนิดใหม่ระดับโลก 15 ชนิดที่ค้นพบ
ชื่อสัตว์พื้นใต้น้ำชนิดใหม่ระดับโลก 15 ชนิด |
สถานที่ค้นพบ |
ทาไนดาเซีย (Tanaidacea) |
|
Pagurapseudopsis thailandica n.sp. |
ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง จ.สงขลา |
Nesotanais rugula n.sp. |
ทะเลสาบสงขลาตอนกลาง จ.สงขลา |
Longiflagrum koyonense n.sp. |
ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง จ.สงขลา |
Birdotanais songkhlaensis n.g., n.sp. |
ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง จ.สงขลา |
Gutuapseudes denticulatus n.sp. |
ชายฝั่งศรีราชา จ.ชลบุรี |
Cristapseudes siamensis n.sp. |
ชายฝั่งศรีราชา จ.ชลบุรี |
Saltipedis tetracanthus n.sp. |
ชายฝั่งป่าคลอก จ.ภูเก็ต |
Thaicungella lideeiensis n.g., n.sp. |
เกาะลิดี จ.สตูล |
Msangia tarangensis n.sp. |
เกาะตารัง จ.สตูล |
Biropalostoma spiniferum n.g.,n.sp. |
คลองบ่อเจ็ดลูก จ.สตูล |
Halmyrapseudes gutui n.sp. |
เกาะลิดี ต.ปากบารา จ.สตูล |
แอมฟิพอดา (Amphipoda) |
|
Kamaka appendiculata n.sp. |
ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง จ.สงขลา |
Kamaka songkhlaensis n.sp. |
ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง จ.สงขลา |
คูมาเซีย (Cumacea) |
|
Procampylaspis andamanensis n.sp. |
ทะเลอันดามัน 07o45’ N, 098o41’E |
เพรียงหิน (Balanomorpha) |
|
Balanus thailandicus n.sp. |
คลองปูยู ต.ตำมะลัง จ.สตูล |
5. ทรรศนะต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นับวันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโลกก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาทุกระดับให้เท่าทันกับสถานการณ์ด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีมีทั้งผลดีและผลเสียจึงต้องพัฒนาความรู้ด้วย เพื่อให้สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และธรรมชาติ โดยรู้เท่าทันผลเสียที่เกิดจากเทคโนโลยีนั้นๆ เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดตามมาทุกเมื่อ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสมดุลทางธรรมชาติอย่างมหันต์
6. กิจการอันเป็นคุณประโยชน์เพื่อสังคม สาธารณกุศล
1. นักวิจัยคนแรกที่ริเริ่มศึกษาสัตว์พื้นใต้น้ำในกลุ่มทาไนดาเซียทั้งด้านนิเวศวิทยาและอนุกรมวิธาน ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับระบบนิเวศชายฝั่งทะเลสาบสงขลา เป็นระยะเกือบ 30 ปี
2. เป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาสิ่งแวดล้อมทางการเกษตร วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (สภาพแวดล้อมทางน้ำ, นิเวศวิทยาชายฝั่ง, ป่าชายเลน, ลากูน, สัตว์หน้าดิน, แพลงก์ตอน) ทำงานอุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อการค้นคว้าวิจัย โดยเป็นผู้ค้นพบสัตว์พื้นใต้น้ำชนิดใหม่ระดับโลก 15 ชนิด ในประเทศไทย ซึ่งในการค้นพบสัตว์พื้นใต้น้ำเหล่านี้ ได้นำมาซึ่งข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ ของแหล่งน้ำที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์พื้นใต้น้ำ ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยนั้นก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างมากต่อการใช้ การจัดการ และการอนุรักษ์ทรัพยากรในแหล่งน้ำ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ระบบนิเวศน์ สมุทรศาสตร์และการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมทางน้ำในท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาทรัพยากรทางน้ำอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในแหล่งน้ำที่มีความสำคัญต่อการประมง
3. เป็นวิทยากรบรรยายและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศและทรัพยากรชายฝั่งสู่ชุมชนท้องถิ่นมานานหลายสิบปี เพื่อต้องการกระตุ้นให้คนไทยหันมาเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยาชายฝั่งกันทุกจังหวัดไม่ว่าจะอยู่ภาคไหนก็ตาม จะได้รู้ว่าจะต้องดูแลระบบนิเวศอย่างไร และมีความคาดหวังว่าอยากให้เยาวชนศึกษาเรื่องนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อปลูกฝังให้เป็นคนรักสัตว์ตั้งแต่ยังเด็ก และอยากให้ทุกคนช่วยกันดูแลทะเลเพราะเชื่อว่าอย่างไรทะเลทั้งสองฝั่ง (ฝั่งอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน) ก็เป็นของประเทศไทย เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาทรัพยากรทางชายฝั่งของไทยให้อยู่อย่างยั่งยืน
แม้ปัจจุบันจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ยังคงทำหน้าที่วิทยากรบรรยายและถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์และผลงานวิจัยให้กับหน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัยต่างๆที่สนใจ อีกทั้งยังได้แต่งหนังสือและตำราจำนวนมาก เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ อันเป็นประโยชน์แก่บุคคลต่างๆทั้งในและนอกวงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และยังทุ่มเทแรงกายแรงใจในการสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อการดูแลรักษาและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเลให้อยู่คู่ชุมชนไปอีกชั่วลูกชั่วหลาน
7. ความภาคภูมิใจและรางวัลเกียรติยศที่ได้รับ
1) นิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2551
2) นักวิจัยที่มีผลงานที่ได้รับคัดเลือกเป็นนวัตกรรมและผลงานวิจัยดีเด่น ในโอกาสครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปี พ.ศ. 2551
3) เป็นอาจารย์ตัวอย่างด้านการเรียนการสอนของคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปี พ.ศ. 2553
4) ศิษย์เก่าดีเด่นด้านความสำเร็จในอาชีพ หน้าที่การงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปี พ.ศ. 2557
5) ได้รับรางวัลผลงานดีเด่นของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปี พ.ศ. 2557 สาขางานวิจัย เรื่องระบบนิเวศทะเลสาบสงขลาและสัตว์พื้นใต้น้ำชนิดใหม่
6) บุคคลดีเด่นของชาติ ประจำปี พ.ศ. 2557 สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แทนพระองค์ เพื่อรับพระราชทานเข็มเชิดชูเกียรติ ในวันอังคารที่ 7 กรกฎาคม 2558 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดารโหฐาน กรุงเทพฯ
7) ศิษย์เก่าดีเด่นจากสมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่น ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2558
8. ประวัติการทำงาน
ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524–2557
1) ตำแหน่งชื่อทางวิชาการ
พ.ศ. 2524 – 2528 อาจารย์ระดับ 4
พ.ศ. 2528 –2537 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ระดับ 6
พ.ศ. 2537 – 2548 รองศาสตราจารย์ระดับ 8
พ.ศ. 2548 – ปัจจุบัน ศาสตราจารย์ระดับ 10
2) ตำแหน่งบริหาร
พ.ศ. 2535 – 2538 รองหัวหน้าภาควิชาวาริชศาสตร์
พ.ศ. 2556 – 2560 รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะทรัพยากรธรรมชาติ
************************