5) บุคคลคุณภาพแห่งปี 2019 ด้านเด็กและเยาวชน
คุณสุรชัย สุขเขียวอ่อน (อายุ 54 ปี)
ผู้อำนวยการมูลนิธิบ้านนกขมิ้น
1. หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน
ผู้อำนวยการมูลนิธิบ้านนกขมิ้น
2. ประวัติการศึกษา
พ.ศ. 2534 ปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
พ.ศ. 2528 ปวช. สถาปัตยออกแบบ โรงเรียนเกษมโปลิเทคนิค
3. นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน
สังคมของเราจะดำเนินสู่อารยะหรือตกต่ำเสื่อมถอยลงก็อยู่ที่พวกเรา ฉะนั้น เราต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบที่สร้างอนาคตที่ดีให้กับเด็ก เด็กหลายคนอาจจะมีปัญหาครอบครัวส่งผลต่อปัญหาสังคม ที่ได้เกิดจากตัวของเด็กเองแต่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ทำให้เขาเป็นเด็กเร่ร่อน เด็กด้อยโอกาส เด็กไม่มีบ้าน เด็กขอทาน เด็กจรจัด เด็กติดยา ฯลฯ เราควรมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตที่ดีให้กับพวกเขาเพื่อพวกเขาจะเป็นอนาคตที่ดีของสังคมเราต่อไป ผมเชื่อว่าเด็กทุกคนเหมือนผ้าขาว แต่สภาพแวดล้อมของสังคม ครอบครัวที่แตกแยกทำให้เขาสกปรกมอมแมมทางร่างกาย แต่ไม่ใช่จิตใจของเขา เราทุกคนควรมีส่วนช่วยเพียงแค่เราให้โอกาสและหยิบยื่นโอกาสให้ เพื่อเขาจะเป็นตัวแทนของเราในอนาคต คือ เขาประสบความสำเร็จในชีวิต และเป็นคนดีของสังคม
มูลนิธิบ้านนกขมิ้น เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ให้การอุปการะช่วยเหลือเด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน เด็กด้อยโอกาส เนื่องจากในปัจจุบัน มีเด็กๆจำนวนมากต้องเป็นผู้รับผลกระทบจากสภาพปัญหาสังคม หลายคนถูกทอดทิ้ง หลายคนถูกทารุณกรรม หลายคนถูกนำไปค้าประเวณีและตกเป็นเครื่องมือการก่ออาชญากรรม จึงมีความจำเป็นยิ่ง ที่เด็ก ๆ เหล่านี้ต้องได้รับความช่วยเหลือ ได้รับการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีคุณภาพและมีคุณธรรม
ผมเชื่อว่าสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันแรกของเด็กที่เกิดมา ฉะนั้นครอบครัวจะมีส่วนช่วยในการที่จะผลักดันให้กับเด็กแต่ละคนประสบความสำเร็จในชีวิต หรือมีความสุขในชีวิต แต่ในปัจจุบันเราพบว่ามีหลายครอบครัวที่ล้มเหลว เด็กไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวทำให้เขาต้องออกมาใช้ชีวิตเป็นเด็กมีปัญหาในสังคม เป็นเด็กเร่ร่อน เด็กจรจัด บางคนก็เป็นเด็กติดยาเสพติด ติดการพนัน ติดเกมส์ เพราะเขาขาดความอบอุ่นในครอบครัว ความคิดของผมในการที่จะแก้ไขปัญหาเด็กเหล่านี้ เราควรจะหล่อหลอมสถาบันครอบครัวขึ้นมาใหม่ สำหรับเด็กที่ผมดูแลอยู่เป็นเด็กเร่ร่อนที่ครอบครัวล่มสลาย ครอบครัวล้มเหลว ครอบครัวทอดทิ้งเขา หรือพ่อแม่เสียชีวิตเป็นเด็กกำพร้า บางคนพ่อแม่ติดคุก ความคิดของผมคือ ผมเริ่มต้นย้อนกลับไปใหม่ให้เขามีความรู้สึกว่า เมื่อเขามาอยู่ที่บ้านนกขมิ้น เขามีครอบครัว เขามีพ่อแม่มีพี่น้องซึ่งเป็นครอบครัวทดแทน มีความรักความเข้าใจ เอาใจใส่ดูแล ที่มีการให้คำสอน การแนะนำ ให้คำปรึกษา ใช้เวลากันภายในครอบครัว เป็นครอบครัวที่อบอุ่น ที่เราก่อตั้งขึ้นมาโดยครอบครัวนี้เองจะเป็นแรงผลักดันชีวิตของเขาไปทีละก้าวจนเขาประสบความสำเร็จ ด้วยความมุ่งมั่นของคนที่ทำด้วยรักความเข้าใจ ด้วยสภาวะแวดล้อมที่เป็นจริง เป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานในชีวิตของเด็ก เมื่อเขามีครอบครัวที่อบอุ่นดูแลประคับประคอง สิ่งนี้จะเป็นแรงผลักดันกระตุ้นให้เขาสามารถเติบโตและก้าวไปสู่อนาคตไม่ว่าจะเรื่องการเรียน การงาน หรือสังคมต่างๆได้
บ้านนกขมิ้นผมออกแบบสถานสงเคราะห์เด็กแบบครอบครัวทดแทน มีการดูแลเด็กด้วยระบบ “ครอบครัว” ตามแนวคิดที่ผมคิดว่า ครอบครัวคือสถาบันแรกที่จะสามารถนำชีวิตที่ดีให้กับเด็กได้ เราจึงทำครอบครัวทดแทนขึ้นมา ที่มีองค์ประกอบเหมือนกับครอบครัวจริงมากที่สุด มีพ่อแม่ มีพี่น้องอยู่ในครอบครัวเดียวกัน มีการดูแลกันเหมือนเป็นครอบครัวปกติในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นครอบครัวที่เสริมสร้างกันและกัน มีแนวทางในการผลักดันให้เด็กแต่ละคนให้เขาประสบความสำเร็จเหมือนกับลูกของเราจริงๆ เพื่อทดแทนในสิ่งที่เด็กขาดหาย เรามีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ที่เป็นคู่สามีภรรยาถูกต้องตามกฎหมาย ทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ให้กับเด็กในบ้านซึ่งเป็นสถานที่ของมูลนิธิฯ ให้การดูแล อบรม สั่งสอน ให้ความรัก ความอบอุ่น ในแต่ละบ้านจะมีลูกจำนวน 10 คน โดยกระบวนการดูแลเด็ก ในระบบครอบครัว ปัจจุบันเรามีทั้งหมด 6 สาขา กระจายตามภูมิภาคต่าง ๆ คือ กรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่, อุทัยธานี, สุโขทัย, เชียงใหม่ และ เชียงราย และในอนาคตนี้ผมอยากจะเสนอความคิดนี้ให้กับองค์กร ชุมชน อำเภอ หรือจังหวัดที่จะมีครอบครัวทดแทนในทุกๆหมู่บ้าน เพื่อรองรับเด็กในชุมชน อำเภอ หรือจังหวัดของท่านในการแก้ไขปัญหาต่างๆของเด็ก
จากการทำงานภาคสังคมที่ผ่านมาเกือบ 30 ปี ผมพบว่าโดยตัวของผมเองเพียงลำพัง หรือองค์กรของเราเองเพียงลำพัง ไม่สามารถที่จะสร้างงานให้สำเร็จในสังคมได้ เราเป็นเพียงจุดเล็กๆ เราเป็นเพียงผู้จุดประกายความคิด เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งที่สำคัญในการทำงานของผมคือ การสร้างเครือข่ายสังคม ในการที่จะมีคนมาร่วมกันสร้างหุ้นส่วนความดี ในการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมปัจจุบัน เพราะสังคมเราก็เหมือนบ้านของเรา เราอาศัยอยู่ในบ้านเราก็ต้องดูแลบ้าน เราก็ต้องช่วยกันแต่เรามีหน้าที่ที่แตกต่างกัน ผมมาอยู่ในส่วนนี้ก็เหมือนผมเป็นคนคอยดูแลทำความสะอาดบ้านให้คุณ คุณก็มีส่วนในการหาอุปกรณ์มาให้ผมในการทำความสะอาด อาจจะเป็นสิ่งของที่ใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหา อาจจะเป็นทรัพย์สินที่จะสนับสนุนในการทำงาน หรืออาจจะเป็นความรู้เทคนิคในการที่จะช่วยเหลือต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้คือเครือข่ายที่เราจะสามารถสร้างขยายออกไป ในการแก้ไขปัญหาสังคมในภาพรวมได้ ผมไม่ใช่เป็นคนที่ทำคนเดียวแล้วสำเร็จ แต่ผมต้องการความร่วมมือจากสังคมในการแก้ปัญหาในบ้านเรา ผมขอย้ำนะครับว่า ตลอดเวลาเกือบ 30 ปีที่ผมทำงานกับเด็กๆ ผมมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แต่ผมต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมที่จะมาร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ในบ้านเมืองของเรา
4. ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน
1. เป้าหมายหลักของมูลนิธิฯ คือเด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ บ้านกรุงเทพฯ อุทัยธานี, สุโขทัย เชียงใหม่ และเชียงราย ตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมหาวิทยาลัย เด็กได้รับการเลี้ยงดูในระบบครอบครัวทดแทนตามที่กล่าวข้างต้น เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเด็ก โดยเด็กสามารถเรียนจนจบปริญญาตรีตามสาขาวิชาที่เขาชอบและถนัด เมื่อเรียนจบเขาสามารถออกไปประกอบอาชีพและ ใช้ชีวิตในสังคมภายนอกได้อย่างภาคภูมิใจ
2. งานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน
2.1 โครงการบ้านปันรัก จังหวัดเชียงราย เป็นโครงการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ติดยาเสพติด และต้องการเข้ารับการบำบัดร่างกายและจิตใจให้เข้มแข็ง ตลอดจนการส่งเสริมการฝึกทักษะชีวิตและอาชีพ เช่น การฝึกอาชีพเลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ที่ผ่านการบำบัดมีทักษะและสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ ในปีที่ผ่านมามีเด็กและเยาวชนที่ได้รับการบำบัด และเด็กได้รับการฟื้นฟูสถาพร่างกายและจิตใจจนสามารถกลับบ้านได้
2.2 การให้ทุนการศึกษาแก่เด็กยากจน เด็กกำพร้าที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษา แต่ยังมีญาติที่พอจะช่วยเลี้ยงดูได้ โดยมูลนิธิฯ เข้าไปมีส่วนในการช่วยเหลือด้านทุนทรัพย์ กิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ เสริมความรู้ ต่าง ๆ โดยร่วมมือกับองค์กรหรือหน่วยงานในพื้นที่ เป็นผู้ดูแลเด็ก ในปี พ.ศ.2561 มูลนิธิบ้านนกขมิ้นได้ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กๆรวมทั้งสิ้นจำนวน 213 ทุน
2.3 โครงการแบ่งปัน ในปี พ.ศ. 2561 เพื่อขอรับบริจาคสิ่งของเหลือใช้ เสื้อผ้า ของเล่นเด็ก ตุ๊กตา จากผู้คนในสังคมเป็นของขวัญให้เด็กๆของมูลนิธิบ้านนกขมิ้น และเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ ได้รับสิ่งของบริจาคเป็นจำนวนมากและได้นำสิ่งของเหล่านี้ไปมอบเป็นของขวัญให้กับเด็กๆทั่วประเทศประมาณ 10,000 คน
2.4 ให้การสงเคราะห์ช่วยเหลืออื่นๆ เด็กที่ป่วยติดเตียง เด็กพิการ เด็กที่มีพ่อแม่ยากจน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆ ในปี พ.ศ. 2561 ได้ดำเนินการดังนี้
- โครงการกายกิจกรรมในการนำสิ่งของผู้บริจาค เช่น ไม่เท้า รถเข็น วอคเกอร์ เตียงผู้ป่วย เครื่องช่วยหายใจ และอื่นๆไปมอบให้แก่ผู้เจ็บป่วยที่ยากไร้
- โครงการปันสวยช่วยน้อง นำเครื่องสำอางที่ผู้บริจาค ไปมอบให้แก่นักเรียนตามโรงเรียนเพื่อแต่งหน้าในงานนาฎศิลป์และงานศิลปะ ฯลฯ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของครู และนักเรียน
- โครงการแบ่งปัน เปลี่ยนแสตมป์จากผู้บริจาคเป็นขนม นม เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเล่นเด็ก ฯลฯ ไปมอบให้เด็กยากจน คนไร้บ้าน ในพื้นที่ห่างไกลส่วนใหญ่เป็นคนยากจน โรงเรียนที่ห่างไกลความเจริญ
2.5 การสร้างเครือข่ายครอบครัวทดแทน โดยให้ชุมชนดูแลเด็กเอง แต่ได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจในภาคส่วนของสังคม เช่น ชุมชนอาจจะมีบ้าน มีผู้ที่จะทำหน้าที่ดูแลเด็ก และมูลนิธิฯจะระดมทุนจากภาคธุรกิจมาช่วยสนับสนุนการดูแลเด็กๆของชุมชน
2.6 โครงการเหลือขอ เป็นการกระตุ้นการมีส่วนร่วมของสังคม ในการบริจาคสิ่งของเพื่อร่วมในการสนับสนุนในการดูแลเด็กในสังคมด้วยกัน เพื่อให้เขาเกิดการตระหนักว่าเขาควรมีส่วนร่วมกับสังคม ให้เขาไม่รู้สึกถูกปิดกั้นว่าเขาต้องเป็นคนที่มีฐานะดี ร่ำรวยก่อนถึงจะทำประโยชน์ได้ แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่เขามีรอบตัวไม่ว่าจะเป็นสิ่งของที่ไม่ใช้ เสื้อผ้า ของเหลือใช้ เพื่อมูลนิธิฯจะนำไปเปลี่ยนเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กยากจน แม้กระทั่งเวลา และความรู้ ก็เป็นประโยชน์แก่คนอื่นได้ ในโครงการเหลือขอด้านหนึ่งเราดึงคนในสังคมมาช่วยกัน อีกด้านหนึ่งยังเป็นการรักษาสภาพสิ่งแวดของสังคมด้วยการลดปริมาณขยะมูลฝอย และยังสามารถสร้างงานให้กับคนที่ตกงาน คนที่ไม่มีอาชีพมาช่วยกันคัดแยกขยะรีไซเคิล เป็นการช่วยเหลือและให้โอกาสคนที่สังคมไม่ต้อนรับ คนที่มีประวัติติดคุก ติดยา คนชราให้มีงานทำและเป็นที่ยอมรับของสังคม
5. ทรรศนะต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผมมีความเชื่อว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และอาจมีผลกระทบกับเด็ก และครอบครัว แต่หากเราใช้เทคโนโลยี่ใหม่ๆ อย่างเหมาะสมในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและสังคม จะช่วยให้เรามีความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต และมีความใกล้ชิดกันในสังคมมากขึ้น ทำให้โลกของเราเล็กลงสังคมของเราใกล้ชิดกันมากขึ้น และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
6. กิจการอันเป็นคุณประโยชน์เพื่อสังคม สาธารณกุศล
ผมเชื่อว่าการอยู่ร่วมกันในสังคมต้องมีการพึ่งพาอาศัยกัน และผมเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิจะช่วยเหลือคนอื่นได้ สงเคราะห์คนอื่นได้ สังคมเราต้องมีทั้งผู้ให้ที่ดีและผู้รับที่ดี หลายคนอาจจะมองว่าเขายังไม่สามารถให้คนอื่นได้เพราะว่าเขาขาด เขาจำกัดในด้านต่างๆ แต่ผมอยากสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันที่ดี โดยที่ไม่ต้องคิดว่าคุณจะต้องเป็นคนรวยเท่านั้น เป็นคนมั่งมีเท่านั้น คุณถึงจะสามารถช่วยเหลือสงเคราะห์คนอื่นได้ ให้เขาเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ที่เขามีและแบ่งปันซึ่งกันและกัน ผมเปิด “โครงการเหลือขอ” ขึ้นมาในมูลนิธิบ้านนกขมิ้น ก็เพื่อจะขอสิ่งของที่คุณไม่ได้ใช้ ของที่เกินความจำเป็นในชีวิตในครอบครัวของคุณ เพื่อจะให้เกิดจุดเริ่มต้นของการแบ่งปันจากสิ่งเล็กๆน้อยๆ สู่คนในสังคม อาจจะเป็นเสื้อผ้าที่คุณไม่ได้ใช้ หนังสือที่ไม่ใช้ เครื่องกีฬา หรือของขวัญสมัยเด็ก ๆ ที่ไม่ใช้แล้ว คุณสามารถหยิบยื่นให้กับผู้อื่นได้ สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้สึกที่ดีในการให้ต่อกัน ถ้าเกิดสังคมแบ่งปัน ประเทศเราก็คงจะอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข
7. ความภาคภูมิใจและรางวัลเกียรติยศที่ได้รับ
ปี พ.ศ. 2537 ได้รับรางวัล โล่ประกาศเกียรติคุณ องค์กรที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคม หน่วยงานที่มอบให้มูลนิธิศุภมิตรแห่งประเทศไทย
ปี พ.ศ. 2547 ได้รับรางวัล คนดีคู่สังคม จากหน่วยงาน UBC
ปี พ.ศ. 2550 ได้รับรางวัล ด้านการพัฒนาสังคมเมือง จากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ปี พ.ศ. 2558 ได้รับรางวัล เชิดชูเกียรติคนดีศรีแผ่นดิน จากหน่วยงานเพชรกนก
ปี พ.ศ. 2561ได้รับรางวัล นักสังคมสงเคราะห์ดีเด่นประจำปี 2561 จากมูลนิธิปกรณ์อังศุสิงห์ ร่วมกับ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
8. ประวัติการทำงาน
· ที่ปรึกษากฎหมายชุมชนในเขตห้วยขวาง
· ผู้จัดการโครงการเด็กเร่ร่อน ครูข้างถนน ครูอาสา มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.2531-2541
· ตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิบ้านนกขมิ้น ดูแลเด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน เด็กด้อยโอกาสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 จนถึงปัจจุบัน