1) บุคคลคุณภาพแห่งปี 2019 ด้านวิทยาศาสตร์
ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน (อายุ 74 ปี)
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์
1. หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน
· ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ ของราชบัณฑิตยสภา
· ผู้เชี่ยวชาญพิเศษสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
· กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนการวิจัย
· กรรมการตัดสิน พิจารณา ทุนวิจัย ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
· กรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยต่างๆทั้งของรัฐและเอกชน รวม 16 แห่งและของกระทรวงศึกษาธิการ
· ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ข้าราชการบำนาญ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
· อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
· อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
2. ประวัติการศึกษา
พ.ศ. 2512 ปริญญาตรี ฟิสิกส์ (เกียรตินิยม) Imperial College มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ
พ.ศ. 2513 ปริญญาโท ฟิสิกส์ Imperial College มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ
พ.ศ. 2521 ปริญญาเอก ฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตริเวอร์ไซด์ สหรัฐอเมริกา
3. นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน
ตั้งแต่วัยเยาว์ข้าพเจ้าใฝ่ฝันจะเป็นครูวิทยาศาสตร์ไม่เคยคิดจะเป็นแพทย์ เพราะรู้สึกแพทย์ต้องแบกรับภาระและความรับผิดชอบต่อชีวิตของคนไข้มาก และไม่เคยคิดจะเป็นนักวิทย าศาสตร์เพราะเมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแล้ว ข้าพเจ้าไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “นักฟิสิกส์ ต้องทำอะไรบ้าง” จึงพยายามสอบชิงทุน ก.พ. และได้ไปเรียนฟิสิกส์ เพื่อกลับมาเป็นครูตามที่ใจต้องการ ทุน ก.พ. จึงทำให้ความฝันของข้าพเจ้ามีโอกาสเป็นจริง
ในการเรียนฟิสิกส์ที่ประเทศอังกฤษทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกหูตากว้างไกลขึ้น ดังนั้นเมื่อกลับมาเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ก็รู้สึกยินดี เพราะได้มีโอกาสสอนคนที่จะเป็นครู ที่จะไปสอนนักเรียนต่อไป ประสบการณ์ในช่วงนี้ทำให้ข้าพเจ้าตระหนักว่า คุณภาพของครูฟิสิกส์ไทยจะต้องได้รับการพัฒนาขึ้นมากจึงจะทัดเทียมครูอาจารย์ในโลกตะวันตกได้
เมื่อได้ทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาเอก สาขาฟิสิกส์ ข้าพเจ้าได้เปลี่ยนใจจากฟิสิกส์ทัศนศาสตร์ไปทำวิจัยทางด้านทฤษฎีของตัวนำยวดยิ่ง เพราะตระหนักดีว่าโอกาสและความก้าวหน้าในอาชีพอาจารย์มีมากกว่าการทำวิจัยฟิสิกส์ทดลอง เพราะประเทศไทยไม่มีอุปกรณ์ราคาแพงๆให้อาจารย์ทำวิจัย ซึ่งในภายหลังข้าพเจ้าได้ตัดสินใจถูกต้อง เพราะได้ครองตำแหน่งศาสตราจารย์หลังจากที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก โดยใช้เวลา 7 ปี
4. ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน
· เมธีวิจัยอาวุโส สาขาฟิสิกส์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พ.ศ. 2542-2549
· นักเรียนทุนรัฐบาลดีเด่น สมาคมนักเรียนทุนรัฐบาล 2548
· นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2530 สาขาฟิสิกส์ทฤษฎี
· นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2530 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์
ในปี พ.ศ. 2530 เมื่อมีข่าวการพบตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิสูง ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน เป็นคนไทยคนเดียวที่กำลังวิจัยเรื่องนี้ จึงได้รับเลือกเป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับการคัดเลือกเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ ของสภาวิจัยแห่งชาติ ในปีเดียวกันด้วย
อุดมการณ์หนึ่งที่ข้าพเจ้าได้มีอยู่ตลอดเวลา และจะมีตลอดไป คือ การทำสังคมไทยให้เป็น “สังคมการเรียนรู้” เพราะชาติอื่นๆกำลังพัฒนาตลอดเวลา ดังนั้น ถ้าคนไทยไม่รู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราจะแข่งขันกับชาติอื่นไม่ได้และเราจะแก้ปัญหาความยากจนของชาติเราก็ไม่ได้
ข้าพเจ้าจึงแบ่งเวลาสอนหนังสือ และวิจัยมาเขียนบทความวิทยาศาสตร์ เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่สังคม ตามคำแนะนำของ คุณชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ แห่งนิตยสาร “อาทิตย์” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 และได้ทำมาเป็นประจำทุกวันศุกร์อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในคอลัมน์ “โลกวิทยาการ” ของผู้จัดการออนไลน์ เพื่อให้ผู้อ่านได้ข้อคิดและความรู้ที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา
ในงานด้านการวิจัย ได้เป็นกรรมการการประเมินผลโครงการวิจัยฟิสิกส์ของ สกว. สวทช. และของสภาวิจัยแห่งชาติ ทำให้รู้ทิศทางการวิจัยฟิสิกส์ของประเทศ ในด้านการศึกษา ได้เป็นกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน รวม 16 แห่ง และของกระทรวงศึกษาธิการด้วย ทำให้รู้สมรรถภาพและความสามารถในการสอนกับวิจัยของอาจารย์ในสถาบันการศึกษาชั้นสูง รวมถึงได้เป็นหัวหน้าทีมคุมนักเรียนไทยไปแข่งฟิสิกส์โอลิมปิก ที่สหรัฐอเมริกา และจีน
5. ทรรศนะต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในขณะที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงสังคมไทยตลอดเวลา การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสถานศึกษาของเรา ยังไม่ได้เปลี่ยน ดังนั้น นิสิต นักเรียน ที่สำเร็จการศึกษาในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ณ วันนี้จะมีปัญหาในการทำงาน และในการปรับตัวในอนาคต โรงเรียนและมหาวิทยาลัยจะต้องนำเทคโนโลยีการเรียนรู้เข้ามาช่วยอย่างรีบด่วน และฝึกให้นิสิตเก่งด้านภาษาด้วย เพราะถ้าเขามีความรู้ภาษาอังกฤษดี เขาจะสามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้ตลอดชีวิต
นอกจากเทคโนโลยีที่ต้องนำมาใช้แล้ว การฝึกครูอย่างขนานใหญ่ก็เป็นเรื่องจำเป็น จากประสบการณ์เป็นกรรมการพิจารณาตำแหน่งวิชาการในสถาบันการศึกษาร่วม 20 มหาวิทยาลัย ทำให้รู้ว่า ความรู้ของครูเรายังต่ำกว่า “มาตรฐาน” และเมื่อครูไม่มีความรู้ที่ทันสมัยจะสอน ความเบื่อหน่ายของนักเรียนที่จะเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็จะมีมาก การไม่สนใจวิจัย ค้นหา ความรู้ต่อก็จะระบาดไปทั่ว และนี่ก็คือปัญหาที่ประเทศเรากำลังเผชิญอยู่
6. กิจการอันเป็นคุณประโยชน์เพื่อสังคม สาธารณกุศล
กรรมการตัดสิน พิจารณา ทุนวิจัย ของ สกว. วช. สวทช. สมาคมวิทยาศาสตร์ รวมถึงตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ และได้นำความรู้วิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยมาเล่าให้ประชาชนคนทั่วไปรู้และตระหนักว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรู้ เพื่อให้เท่าทันโลก มิให้ถูกหลอก และเป็นสิ่งประเสริฐที่มนุษย์ต้องใช้ในการเสวงหาความจริง ส่วนการมีเทคโนโลยี ก็เพื่อให้มนุษย์ใช้ในการอำนวยความสะดวกต่างๆ ด้วยความหวังว่า สักวันหนึ่ง คงมีคนไทย ได้รับรางวัลโนเบลบ้าง
7. ความภาคภูมิใจและรางวัลเกียรติยศที่ได้รับ
การได้รับคัดเลือกเป็นเมธีวิจัยอาวุโสของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 2 ครั้ง และนักวิจัยอาวุโสของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำให้ข้าพเจ้าตระหนักในบทบาทว่า ต้องสร้างกลุ่มวิจัยด้านฟิสิกส์ทฤษฎีขึ้นมา ครั้นเมื่อได้ทุนไปปฏิบัติการวิจัยที่ International Center for Theoretical Physics ที่เมือง Trieste ในอิตาลี 12 ปี ในฐานะ Research Associate กับได้ทุนไปทำงานวิจัยที่ University of Waterloo รัฐ Ontario ของ Canada เป็นเวลา 1.5 ปี ประสบการณ์ได้ช่วยให้ข้าพเจ้าสามารถทำงานวิจัยต่อไปในเมืองไทยได้ เพราะการติดต่อกับโลกภายนอก ในสมัยที่ยังไม่มีอินเทอเน็ทใช้ เป็นเรื่องจำเป็น
การได้รับเลือกเป็นภาคีสมาชิก ของราชบัณฑิตยสถาน ในสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาฟิสิกส์ และได้เป็นราชบัณฑิต ของราชบัณฑิตยสภา ในสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และเป็นนักฟิสิกส์คนเดียวของประเทศที่ได้รับเกียรตินี้ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกภูมิใจและรู้ว่าต้องตอบแทนสังคม จากเกียรติที่ได้รับ โดยการพยายามสื่อสารข้อมูล ข่าว และความตื่นเต้นต่างๆ ที่กำลังเกิดในโลกวิชาการ ให้สังคมรับรู้และเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นด้านฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมต้องรู้ แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่ประสบความสำเร็จดังที่ใจต้องการ เพราะสังคมไทยมิได้ให้ความสนใจความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์มากนัก และนี่ก็คือจุดมุ่งหมายของข้าพเจ้าที่จะทำให้ได้ในอนาคต
ในส่วนของบทความที่ข้าพเจ้าเขียนเพื่อนำออกเผยแพร่ ก็ได้รับการรวมเล่มโดยบริษัทสารคดี เป็นหนังสือ 13 เล่ม เช่น สุดยอดนักผจญภัย สุดยอดนักคณิตศาสตร์ สุดยอดนักเคมี สุดยอดนักฟิสิกส์ ศิลปินอัจฉริยะและสุดยอดนักโบราณคดี เป็นต้น
8. ประวัติการทำงาน
8.1 งานด้านบริหาร
ตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
8.2 งานด้านวิชาการ
ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการตามลำดับ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ จนถึงศาสตราจารย์ ระดับ 11
8.3 ผลงานวิจัย
ผลงานวิจัยที่ลงพิมพ์ในวารสารต่างประเทศถึง 37 เรื่องได้รับการยอมรับเข้าเป็นสมาชิกในสมาคมวิชาการระดับนานาชาติ อาทิเช่น the Abdus Sulam International Centre for Theoretical Physics, Trieste Italy (Senior Associate), the New York Academy of science, New York, U.S.A, the Royal College of Science, England (Associate)
8.4 ผลงานตีพิมพ์ / บทความ
· หนังสือรวมเล่มบทความวิทยาศาสตร์ วิทยาการแห่งอารยะ เล่ม 1 เล่ม 2 ศาสตร์พิศวง ศาสตร์ปริศนา อารยธรรมลี้ลับ โภชนาโรคาน่าฉงน ถอดรหัส อัจฉริยะ เลโอนาร์โด ดาร์วินชี สารพัดสัตว์โลก อัจฉริยะนักวิทย์เล่ม 1 อัจฉริยะนักวิทย์เล่ม 2 ศิลปินอัจฉริยะ ไขปริศนาวิทยาการ
· บทความใน “โลกวิทยาการ” หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน ทุกวันอังคาร
· บทความใน “โลกวิทยาการ” นิตยสารสารคดี ทุกเดือน
· บทความใน “เรื่องจากนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น?”นิตยสาร สสวท ทุกสองเดือน
· บทความใน “MATHEFEATURES” นิตยสาร “MY MATHS” ทุกเดือน
· บทความใน “FEATRUESTECH” นิตยสาร “THAI ELECTRONICS” ทุกเดือน งานวิจัย บทความวิชาการในวารสารวิจัยต่างประเทศ เรื่องที่เกี่ยวกับตัวนำยวดยิ่ง (superconductor) 50 เรื่อง