5)  บุคคลคุณภาพแห่งปี 2017 ด้านเด็กและเยาวชน

นายเชาวลิต สาดสมัย (อายุ 39 ปี)

ครูเชาว์ ผู้อุทิศตนเพื่อเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสในสังคม

 

1. หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน

ครูอาสาประจำศูนย์สร้างโอกาสเด็กสะพานพระราม 8 ของกรุงเทพมหานคร

 

2. ประวัติการศึกษา

          ปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ (พลศึกษา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

3. นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน

          ตั้งใจพัฒนาชุมนและคุณภาพเด็กให้ดีขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพและอนาคตของเด็กให้กลายเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป

 

4. ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน

1. ได้พัฒนาศูนย์สร้างโอกาสเด็กฯให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีเอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก และได้พัฒนาเด็กให้มีคุณภาพ และศักยภาพที่ดีจนเป็นที่ยอมรับของชุมชน

2. ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ได้ทำงานเพื่อชุมชนบ้านปูน บริเวณใต้สะพานพระราม 8  เพื่อช่วยหล่อหลอมเด็กๆที่ด้อยโอกาสในชุมชนให้กลายเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป ปัจจุบันมีเด็กที่ดูแลประมาณ 60-80 คน แต่ถ้าจะประสบความสำเร็จที่สุดก็ต่อเมื่อเด็กที่ผมดูแลสามารถเรียนจบปริญญาตรีมีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นี่คือจุดสูงสุดที่รออยู่  

 

5. ทรรศนะต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

           การศึกษาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนได้ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ก็มีความสำคัญเช่นกันเพราะมีผลต่อการพัฒนาเด็กทั้งในความคิดและศักยภาพ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตลอดเวลาไม่จบสิ้น  

 

6. กิจการอันเป็นคุณประโยชน์เพื่อสังคม สาธารณกุศล

1. พัฒนาศูนย์สร้างโอกาสเด็กสะพานพระราม 8 ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้และที่พักพิงสำหรับเด็กด้อยโอกาส และเด็กเร่ร่อนที่อาศัยอยู่บริเวณใต้สะพานพระราม 8 เพื่อให้เด็กๆเหล่านี้ ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและสิ่งไม่ดี เพื่อลดปัญหาเด็กเร่ร่อนและปัญหาสังคม

2. พัฒนาศูนย์ฯให้เป็นที่พักพิงกาย ใจ และช่วยเหลือด้านการเงิน แก้ปัญหาทุกเรื่องของครอบครัวทุกคนในชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือ

3. ช่วยเหลือศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน โดยจัดหาทุนการศึกษา เครื่องมือและอุปกรณ์ใช้สอยในศูนย์ฯ เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ให้เอื้อกับเด็ก โดยใช้เวลาหลังเลิกงานรับจ้างแบกหามและเก็บขยะเพื่อนำเงินมาใช้เป็นค่าใช้จ่าย

4. ออกเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ และให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร ยารักษาโรค เครื่องอุปโภค บริโภค ให้กับผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่บ้านเพียงลำพัง ผู้พิการ ผู้ป่วย HIV คนเร่ร่อนจรจัดที่อยู่ในบริเวณชุมชน

5. ริเริ่มและจัดทำโครงการห้องปฐมพยาบาลเบื้องต้น จัดทำตู้ยาสามัญประจำบ้านติดตั้งไว้หน้าศูนย์ฯเพื่อให้บริการกับคนในชุมชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง

6. ปรับปรุงพื้นที่หน้าศูนย์ฯให้เป็นสนามเด็กเล่นและขอรับการสนับสนุนจากผู้ใจดี เพื่อติดตั้งเครื่องเล่นสำหรับเด็กเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างจินตนาการ และทำกิจกรรมที่ดีของเด็กๆในชุมชน

7. ริเริ่มและจัดทำโครงการ “ร้านค้าศูนย์บาท” โดยสอนให้เด็กๆทำงานแลกของใช้ที่จำเป็น การทำงานนั้นก็มิใช่แรงงานแต่อย่างใด หากเป็นการเก็บขยะ ขวด หรือพลาสติกที่พอขายได้ มาแลกกับถุงเท้า รองเท้า ปากกา ดินสอสี ยาสีฟันหรือแม้แต่ผ้าอนามัย โดยเน้นหลักที่ว่า เด็กๆจะรอรับแต่การบริจาคแต่อย่างเดียวมิได้ ครูเชาว์ปูพื้นฐานของชีวิตจริงให้เด็กๆ เราต้องทำงานสุจริตแลกมา ซึ่งร้านค้านี้ ผู้ใหญ่ในชุมชนที่หาเช้ากินค่ำ ก็สามารถหาเก็บขยะตามบ้านมาแลกได้ด้วยเช่นกัน ร้านค้าศูนย์บาท จะรับแต่สิ่งของไม่รับเงินสด

8. ร่วมกับประธานชุมชนเปิด “ศาลาธรรม” ให้เด็กๆ ได้สวดมนต์ตอนเช้า เพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมในใจ

7. รางวัลเกียรติคุณที่ได้รับ

ปี 2555     รางวัลเชิดชูเกียรติ ลายน้ำทอง” บุคคลต้นแบบจากสถานสงเคราะห์กรมประชาสงเคราะห์ หรือกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการที่ประสบความสำเร็จในชีวิต

นายเชาวลิต สาดสมัย ครูข้างถนน

ปี 2555     รางวัล “คนค้นฅนอวอร์ด” ในสาขา “คนเล็กหัวใจใหญ่” ครูเชาว์ เรือจ้างข้างถนน ของบริษัททีวีบูรพา

ปี 2557     รางวัล 10 คนต้นแบบที่ได้รับจำนวน Like มากที่สุดในกิจกรรม เมืองไทย Real Smile Society จัดขึ้นใน Facebook

ปี 2558     รางวัล “นักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น” โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับมูลนิธิศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ ในประเภท “ผู้ปฎิบัติงานสังคมสงเคราะห์”

ปี 2558     รางวัล “คนพิการต้นแบบ” ครูอาสาซึ่งมีความพิการ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

8. ประวัติส่วนตัวและประวัติการทำงาน

          ประวัติการทำงาน

ครูอาสา ตำแหน่งนักพัฒนาสังคม สังกัดกลุ่มงานสงเคราะห์และพิทักษ์เด็ก สำนักพัฒนาสังคมกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 –ปัจจุบัน  โดยรับผิดชอบดำเนินงานในศูนย์สร้างโอกาสเด็กสะพานพระราม 8 เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน คนพิการ เด็กด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ การให้ความช่วยเหลือเคสเร่งด่วน โดยประสานกับศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร. 1300 มาอย่างต่อเนื่อง

          ประวัติส่วนตัว

ครูเชาว์ นายเชาวลิต สาดสมัย” พ่อ หรือฮีโร่ ของเด็กเร่ร่อนบริเวณชุมชนใต้สะพานพระราม 8 คุณค่าในตัวเองที่เขาค้นพบ ไม่ใช่เป็นการทำให้คุณภาพชีวิตของตัวเองดีขึ้นเท่านั้น แต่เขายังแบ่งปัน หยิบยื่นให้เด็กน้อย ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้พิการ และคนด้อยโอกาสในชุมชนอีกด้วย "ครูเชาว์" ลืมตาดูโลกขึ้นมาพร้อมกับสภาพร่างกายที่พิการและบกพร่องทางสติปัญญาที่พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดทอดทิ้งตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ เขาเติบโตมาในสถานสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและสติปัญญา (บ้านราชาวดี (ชาย)) แต่ก็สู้สุดชีวิตเพื่อพิสูจน์ให้คนทั่วไปที่มองเขาเป็น "ไอ้บ้า", "ไอ้เหล่", "ไอ้เป๋" ได้รู้ว่าคนที่ถูกมองว่า "บ้า" คนนี้ ก็มีศักยภาพไม่ด้อยไปกว่าคนปกติเลยและเขาก็ทำสำเร็จด้วยการหมั่นพากเพียรเรียนหนังสือจนคว้าปริญญาตรีจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาได้สมใจ

หลังจากเรียนจบ "ครูเชาว์" ตัดสินใจมาเป็นครูประจำศูนย์สร้างโอกาสเด็กพระราม 8 ที่ทำงานเพื่อเด็กเร่ร่อน และเด็กในชุมชนแออัด เขามีหน้าที่ดูแลเด็ก ๆ ในชุมชนเหล่านี้ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ด้วยใจรัก และไม่ขาดตกบกพร่องราวกับเป็น "พ่อคนที่ 2" ของเด็ก ๆ เหล่านี้ ทุกวัน "ครูเชาว์" จะคอยไปรับไปส่งเด็กๆที่โรงเรียนและช่วยสอนการบ้านให้เสมอๆนอกจากนี้แล้ว เมื่อมีเวลาว่าง "ครูเชาว์" จะเข้าไปเยี่ยมเยียน ถามไถ่ปัญหา นำนม ขนม และผ้าอ้อม ไปมอบให้เด็กๆ ที่พิการและเด็กยากจนในชุมชนเป็นประจำ จากการได้คลุกคลีกับเด็กๆในชุมชน ทำให้ครูเชาว์อาสาที่จะไปดูแลคนป่วยยากไร้ รวมทั้งคนแก่ที่ถูกทอดทิ้ง ผู้ป่วย HIV ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่เห็นได้ทั่วไปในชุมชนแออัด จนกระทั่งในปัจจุบัน ครูเชาว์ซึ่งมีหน้าที่หลักในการดูแลเด็กๆในศูนย์ดูแลเด็กแล้ว ยังดูแลผู้ป่วยและคนแก่ที่ยากจนและถูกทิ้งให้อยู่โดยลำพัง ครอบคลุมถึง 6 ชุมชน

ลำพังเงินเดือน"ครูเชาว์" คงไม่มากมาย เขาจึงใช้เวลาว่างหลังเลิกงานไปรับจ้างแบกหาม และออกไปตระเวนเก็บขยะขาย เพื่อนำเงินมาซื้อขนมมอบให้กับเด็กๆที่มาทำกิจกรรมที่ศูนย์ฯ และนำไปซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนให้กับเด็กๆในศูนย์ได้ใช้สอย บางครั้งก็เอาอาหารและข้าวของเครื่องใช้ ยารักษาโรค ไปมอบให้กับคนเร่ร่อนจรจัดย่านสะพานพระราม 8 ได้ประทังชีวิต หลายครั้งที่ครูถูกมองว่าไม่ใช่ครู มองว่าเป็นคนเก็บขยะ หรือลูกจ้างที่ทางศูนย์มาให้ทำงาน ซึ่งตอนแรกๆ ที่เข้าคนในชุมชน หรือแม้แต่เด็กเองก็ไม่ยอมรับ เขาไม่รู้ว่าครูเข้ามาทำไม ดังนั้น กว่าจะได้รับการยอมรับจากเด็กและคนในชุมชนต้องใช้เวลา แต่ครูไม่ย่อท้อ พยายามทำให้เขาเห็นว่าครูอยากเข้าไปช่วยเหลือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กจริงๆ โดยเริ่มจากพัฒนาศูนย์ให้กลายเป็นแหล่งพักพิงของชุมชน ซึ่งตอนนี้นอกจากมีกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านการเสริมทักษะความรู้ พื้นฐานการใช้ชีวิต และมีการ้ลงพื้นที่ดูว่าครอบครัวไหน คนไหนต้องการความช่วยเหลืออะไร มีปัญหาอะไร ถ้าครูช่วยเหลือได้ ครูจะนำความช่วยเหลือไปให้ จนหลายครอบครัวได้รับการดูแลที่ดีขึ้น” หน้าที่ของศูนย์ฯไม่ใช่เป็นเพียงแหล่งเรียนรู้ มาทำการบ้าน ทำกิจกรรมของเด็กเร่ร่อน ประมาณ 80 คน เท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งพักพิง กาย ใจ และช่วยเหลือด้านการเงิน แก้ปัญหาทุกเรื่องแก่ครอบครัว ทุกคนในชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือ

นอกจากนี้ ครูเชาว์ยังดูแลเด็กเร่ร่อน ซึ่งปัจจุบันเด็กเร่ร่อนจะไม่นอนข้างถนนเหมือนในอดีต เพราะพวกเขาสามารถเช่าบ้านอยู่วันละ 50-60 บาทได้ และเด็กเร่ร่อนในพื้นที่ ส่วนใหญ่จะอายุ  9-12 ปี  พวกเขาไม่อยากอยู่บ้าน และไม่อยากไปโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนก็ไม่เข้าใจเด็ก การที่เด็กออกมาเร่ร่อนมากขึ้นและรู้จักการเช่าบ้านอยู่ เมื่อเขาหารายได้ไม่ได้ เขาก็ต้องลักขโมย หรือเข้าสู่วงจรยาเสพติดเป็นผู้เสพ ผู้ขาย และผู้ซื้อ “เด็กเร่ร่อนจริงๆ เขาไม่ได้ต้องการอะไรมาก นอกจากความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่นและคอยมีผู้ดูแล แนะนำสิ่งดีๆ ให้แก่เขา เพราะด้วยสภาพครอบครัวของพวกเขาไม่พร้อมในหลายเรื่อง

ผมมาทำงานให้เด็กด้อยโอกาสในชุมชมบ้านปูน แทนที่จะกลับไปช่วยงานในสถานสงเคราะห์ เพราะอย่างน้อยเด็กในสถานสงเคราะห์ยังมีคนช่วยเหลือและดูแลพวกเขา แต่เด็กในชุมชนเหล่านี้เขาไม่มีโอกาส พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลลูก เงินที่หามาได้มาก็ยังเลี้ยงลูกให้อิ่มไม่ได้ ผมอยากช่วยเขาให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ดี ปัญหาเด็กเร่ร่อน หรือปัญหาสังคมก็จะไม่เกิดขึ้นเหมือนทุกวันนี้ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ได้ทำงานเพื่อชุมชนแห่งนี้ แม้จะต้องพบกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย แต่ครูเชาว์ไม่เคยคิดว่าสิ่งต่างๆเหล่านั้นเป็นข้อจำกัดและไม่เคยท้อถอย เพราะมีพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทยเป็นตัวอย่าง ครูเชาว์เป็นบุคคลที่ทุ่มเทและเสียสละจากต้นทุนชีวิตที่ติดลบผลักดันให้เป็นพลังบวก จึงได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ที่มีใจอาสาและเสียสละได้เดินรอยตาม

************************

มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สถานที่ติดต่อ :

288/52 อาคารมูลนิธิ มสวท. ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220

Tel. +66(0) 2552-5200 Fax. +66(0) 2551-4422 Email : thaifstt@gmail.com 

Copyright © 2008-2015 หากมีปัญหาในการรับชมกรุณาติดต่อ Webmaster ที่ admin@thaifstt.org