ทำเนียบเกียรติยศ (Hall of Fame)
บุคคลคุณภาพแห่งปี 2014 ด้านเทคโนโลยี
พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ (อายุ 47 ปี)
ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
1. หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน
1. ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (ประธาน กสท.)
2. รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.)
2. ประวัติการศึกษา
- ปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (เกียรตินิยม อันดับ 1 เหรียญทอง)
- ปริญญาโท และปริญญาเอก (MESS/Ph.D.) วิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารโทรคมนาคมUniversity of South Florida, ประเทศสหรัฐอเมริกา
3. นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน
ชีวิต คือ การทำงาน พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ยึดคติ “Work hard, play hard”ทุกวินาทีมีคุณค่า
4. ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน
พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ จบการศึกษาระดับ ปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขา วิศวกรรมไฟฟ้า (เหรียญทอง) โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จบการศึกษาระดับ ปริญญาโท และ ปริญญาเอก (Ph.D.) สาขา วิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร โทรคมนาคม จาก University of South Florida, Tampa, FL USA ภายหลังจากการศึกษาในระดับปริญญาเอก ได้ทำงานที่ Qualcomm Inc., San Diego, CA, USA ตำแหน่ง Senior Engineer โดยได้ร่วมพัฒนาระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ GlobalStar โดยใช้เทคโนโลยีการรับส่งสัญญาณ แบบ Code Division Multiple Access (CDMA)
พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการพัฒนากิจการโทรคมนาคมของประเทศไทย เริ่มจากการรับราชการที่กรมการสื่อสารทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สำคัญในการให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคมแก่หน่วยงานที่ปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคงของชาติ พ.อ.ดร.นที มีหน้าที่รับผิดชอบในการนำเสนอแผนงานการพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคมทหาร การพัฒนาโครงข่ายการสื่อสารดาวเทียมเพื่อความมั่นคง ซึ่งเป็นระบบการสื่อสารหลักที่สำคัญของกองทัพไทยในปัจจุบัน ในส่วนการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของประเทศในภาคเอกชนนั้น พ.อ.ดร.นที ปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษาของโครงการ iPSTAR มีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียม iPSTAR บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่มีลิขสิทธ์เป็นของคนไทย พ.อ.ดร.นที มีหน้าที่ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะการพัฒนาเทคโนโลยีทั้งเทคโนโลยีสถานีแม่ข่ายภาคพื้นดิน (Gateway) การพัฒนาการใช้งาน Applications ผ่านระบบดาวเทียมiPSTAR และฝึกอบรมแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง จนโครงการดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
การร่วมงานกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมเพื่อร่วมพัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคมของชาตินั้น พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ได้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมการ และ ประธานคณะที่ปรึกษาคณะบริหารโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA 2000 1X-EVDO บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้ใช้ความรู้ความสามารถด้านการสื่อสารไร้สาย (Wireless Communications) อย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA ซึ่งเป็นโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G โครงข่ายแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ เป็นโครงการขนาดใหญ่โครงการแรกของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้วิธีการประมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Auction) มีวงเงินประมูลสูงสุดถึง 15,000ล้านบาท โดยการประกวดราคาได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจำนวนมาก พร้อมทั้งจัดถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์เพื่อยืนยันความโปร่งใสของขั้นตอนการทำงาน
ต่อมา พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ได้ดำรงตำแหน่ง กรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริหาร บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีส่วนสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์องค์กร นโยบายการพัฒนาด้านเทคนิค การแข่งขันทางธุรกิจ การขยายโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ และการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) กำหนดนโยบายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ พ.อ.ดร.นที ยังเคยดำรงตำแหน่ง รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมที่สำคัญของประเทศ การปฏิบัติหน้าที่ส่งผลให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ขยายโครงข่ายการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ได้แก้ไขปัญหาสำคัญในหลายประการขององค์กร นำมาซึ่งการให้บริการที่ดี เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้รับบริโภค
พ.อ.ดร. นที ศุกลรัตน์ ได้สั่งสมประสบการณ์ด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมมาโดยตลอดกว่า 20 ปี จนได้มาร่วมงานกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในฐานะอนุกรรมการกิจการกระจาย เสียงและโทรทัศน์ ประธานคณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน และคณะทำงานด้านกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการและคณะทำงานที่แต่งตั้งตามบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551เพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญของประเทศในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.อ.ดร.นที ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มต้นให้มีการจัดระเบียบและแก้ปัญหากิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ที่ไม่มีการกำกับดูแลมาเป็นเวลากว่าสิบปี โดยเฉพาะปัญหาวิทยุชุมชนและเคเบิลทีวีที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตซึ่งมีเป็นจำนวนมากในขณะนั้น
การทำงานในฐานะอนุกรรมการกิจการกระจาย เสียงและโทรทัศน์ เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ ดร. นที ตัดสินใจลงสมัครรับคัดสรรเป็นกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และได้รับการคัดสรรจากวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในเวลาต่อมา ในการดำรงตำแหน่ง กทช. นั้น ดร.นที ได้มีบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนการออกใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคที่ 3 (3G) และขับเคลื่อนการออกใบอนุญาตการใช้โครงข่ายไร้สายเพื่อให้บริการบรอดแบนด์ (Broadband Wireless Access: BWA) โดยในห้วงเวลาดังกล่าวหลายประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่ประเทศใกล้เคียงในแถบเอเชียอย่างประเทศเกาหลี หรือญี่ปุ่น มีการใช้เทคโนโลยี 3G อย่างแพร่หลาย ถึงแม้ว่าในประเทศไทยจะมีบริการ 3G ผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA แต่ถือว่าการให้บริการนั้นยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งถ้าหากประเทศไทยมีเทคโนโลยี 3G อย่างครอบคลุมและทั่วถึง จะทำให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและกระตุ้นเศรษฐกิจหลักของประเทศ พ.อ.ดร.นที ได้พยายามผลักดันให้เกิดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 MHz เพื่อให้นำไปใช้ให้บริการ 3G เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมโทรคมนาคม จากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต เพื่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม อันจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ กทช. ของ พ.อ.ดร.นที ได้วางรากฐานที่สำคัญส่งผลให้การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 MHz และการอนุญาตประกอบกิจการเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ของ กสทช. ในเวลาต่อมาลุล่วงไปได้ด้วยดี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ได้มีการประกาศบังคับใช้กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฉบับใหม่ (พ.ศ.2553) ซึ่งนำไปสู่การคัดสรรคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามกฎหมายฉบับใหม่ ในช่วงระยะการเปลี่ยนผ่านไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการ กสทช. ตามกฎหมายฉบับใหม่นั้น พ.อ.ดร.นที ได้รับมอบหมายจาก กทช. ให้เป็นผู้รับผิดชอบจัดทำร่างแผนแม่บทประกอบกิจการโทรคมนาคม แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ และร่างตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ กสทช. นำไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ การจัดทำร่างแผนแม่บทดังกล่าวเป็นข้อมูลที่สำคัญของแผนแม่บทการพัฒนาในกิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ และจะต้องคำนึงถึงกติกาสากลตามที่กำหนดโดยองค์กรระหว่างประเทศ และแนวทางตามที่บัญญัติโดย พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 การจัดเตรียมร่างแผนแม่บทประกอบกิจการโทรคมนาคม แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ และร่างตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ได้ส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญในเวลาต่อมาให้ กสทช. สามารถเริ่มต้นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถนำข้อมูลที่มีการเตรียมการไว้เป็นอย่างดีไปสู่กระบวนการประกาศบังคับใช้ได้ภายในหกเดือน จากที่กฎหมายกำหนดให้มีการประกาศบังคับใช้แผนแม่บทภายในหนึ่งปี
เมื่อมีการคัดสรรบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ได้เสนอตัวเข้ารับการสรรหาเป็น กสทช. และได้รับการคัดเลือกจากกรรมการสรรหา และวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่ง กสทช. นอกจากนี้ยังได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุม กสทช. ให้ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ เมื่อเดือน ต.ค. 2554
การดำรงตำแหน่งประธาน กสท. ทำให้ พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ มีหน้าที่ที่สำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และการวางโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่ขาดการกำกับดูแลมาเกือบสิบห้าปี พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหากิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ตลอดจนการพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาวิทยุกระจายเสียงขนาดเล็กที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจำนวนกว่า ๖,๐๐๐ สถานี เคเบิลทีวีและโทรทัศน์ดาวเทียมที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตและประกอบกิจการโดยไม่มีกฎหมายรองรับอีกจำนวนมาก
นอกจากนี้ พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ยังเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การออกอากาศวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีโทรทัศน์ของประเทศไทย ส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ที่ดีขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะมีจำนวนช่องฟรีทีวีเพิ่มขึ้นเป็น ๔๘ ช่อง (จากเดิม ๖ ช่อง) คุณภาพความคมชัดสูง (HD: High Definition) และความหลากหลายของการให้บริการ พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ได้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความชัดเจน เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน
5. ทรรศนะต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยได้มีการพัฒนาด้านองค์ความรู้ บุคลากร และสิ่งประดิษฐ์อย่างก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และแน่นอนว่า การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดังกล่าวต้องอาศัยข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและฉับไวเป็นตัวขับเคลื่อน พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์จึงเห็นว่า ภารกิจการแก้ปัญหาและพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เป็นภารกิจที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ในบางครั้งเด็กเรียนรู้จากโทรทัศน์มากกว่าจากในห้องเรียน ดังนั้นการพัฒนากิจการวิทยุและโทรทัศน์ให้มีความก้าวหน้า มีการกำกับดูแลให้มีเนื้อหาที่มีความเหมาะสมจะช่วยให้สังคมของเราพัฒนาไป ข้างหน้าด้วยความมั่นคง
6. กิจการอันเป็นคุณประโยชน์เพื่อสังคม สาธารณกุศล
เป็นผู้บรรยายพิเศษให้สถาบันการศึกษา สถาบันวิชาการทางทหาร องค์กรภาครัฐและเอกชน
2548 – 2549 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเซีย ปทุมธานี
2544 – 2545 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กรุงเทพฯ
2538 – 2539 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กรุงเทพฯ
2538 – 2539 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กรุงเทพฯ
7. รางวัลเกียรติยศหรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ความภาคภูมิใจและรางวัลเกียรติยศที่ได้รับ
- ศิษย์เก่าดีเด่น โรงเรียนพัทลุง จังหวัดพัทลุง ประจำปี พ.ศ.2551 ในโอกาส 120 ปี โรงเรียนพัทลุง
- รองประธานรุ่น นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 38 (2549 - 2550)
- บุคคลดีเด่น กรมการสื่อสารทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด ประจำปี 2547
- รางวัลเหรียญทอง สำหรับนักเรียนนายร้อย จปร. ที่มีผลการศึกษาดีที่สุดของชั้นปี
- ประกาศนียบัตรการปฏิบัติหน้าที่ นักเรียนนายร้อย จปร. ในตำแหน่งหัวหน้ากองร้อย
- ประกาศนียบัตรนักเรียนนายร้อย จปร. ผู้มีความประพฤติเรียบร้อย ดำรงไว้ซึ่งวินัยอันดีงาม
- ประธานรุ่น นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 38 (2532 - 2534)
- บุคคลโทรคมนาคมแห่งปี พ.ศ.2553 จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
- 60 Iconic Thais chosen by Nation Group's Editors พ.ศ. 2553
- รางวัลเกียรติยศจักรดาว ประจำปี 2557 สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จากมูลนิธิศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหาร
8. ประวัติส่วนตัวและประวัติการทำงาน
- วิศวกรอาวุโส โครงการสื่อสารผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ GlobalStar, San Diego, CA, USA
- ที่ปรึกษาโครงการดาวเทียม iPSTAR
- ประธานคณะที่ปรึกษาคณะบริหารโครงการ CDMA บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
- กรรมการ / กรรมการบริหาร บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
- รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
- วิศวกรศูนย์โทรคมนาคมทหาร กรมการสื่อสารทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย
- ประธานคณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน
- อนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
- กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)
- ประธานคณะกรรมการเพื่อการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT หรือ 3G and beyond
- ประธานคณะกรรมการเพื่อการอนุญาตประกอบกิจการสื่อสารความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยีไร้สาย (BWA)
- ประธานคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม
- ประธานคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ
- รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.)