ทำเนียบเกียรติยศ (Hall of Fame)
บุคคลคุณภาพแห่งปี 2013 ด้านสังคม
ดร. ปราโมทย์ ไม้กลัด (อายุ 73 ปี)
(กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา)
1. หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน
1. กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา พ.ศ. 2531 – ปัจจุบัน
2. รองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2552 – ปัจจุบัน
3. กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน
2. ประวัติการศึกษา
พ.ศ. 2506 ปริญญาตรีช่างชลประทานบัณฑิต (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พ.ศ. 2509 Master of Engineering (Irrigation and Water Resources Engineering) จากUniversity of California at Davis, ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. 2537 ปริญญาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 36
พ.ศ. 2510 Certificate in Irrigation, Drainage and Ground Water Engineering จากBureau of Reclamation สหรัฐอเมริกา
ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ดังนี้
พ.ศ. 2536 วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิศวกรรมชลประทาน จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พ.ศ. 2537 วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิศวกรรมโยธา จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
พ.ศ. 2539 วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยนเรศวร
พ.ศ. 2540 วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม
พ.ศ. 2541 วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยวงศ์ชวลิตกุล
พ.ศ. 2542 วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
พ.ศ. 2551 วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการจัดการเทคโนโลยี จากมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
3. นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน
มุ่งทำงานใช้ความรู้ และประสบการณ์ที่มี ทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม และบ้านเมือง โดยมีหลักและอุดมการณ์ในการทำงาน ดังนี้
- ต้องรู้จริง รู้รอบ และพัฒนาความรู้ให้ทันสมัยตลอดเวลา
- ขยัน มุ่งมั่น ทำจริง และก็ทำให้ดีที่สุด
- ซื่อสัตย์ สุจริต ซื่อตรง
- ประสานสัมพันธ์กับทุกคน
4. ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน
ระยะเวลา 30 ปีเศษ ที่รับราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับเลือกตั้งจากชาวกรุงเทพฯ และผู้ทรงคุณวุฒิในหน่วยงานต่าง ๆ ผลงานทั้งหมดเป็นงานเกี่ยวกับการชลประทาน งานพัฒนาแหล่งน้ำ งานเขื่อนและระบบส่งน้ำ งานป้องกันและบรรเทาอุทกภัย งานด้านอุทกวิทยา และการจัดการทรัพยากรน้ำในภูมิภาคต่างๆ ทั้งงานที่กรมชลประทานตามแผนงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และรวมถึงงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณทรงใช้สอยให้ทำงานสนองพระราชดำริมานานกว่า 20 ปี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตของการรับราชการ ดังผลงานอันเป็นความสำเร็จในชีวิตการรับราชการที่ใคร่ขอกล่าวถึง ได้แก่
1. งานด้านการออกแบบและควบคุมการออกแบบโครงการชลประทานขนาดต่างๆ ประกอบด้วย งานเขื่อนเก็บกักน้ำ เขื่อนทดน้ำ ระบบส่งน้ำชลประทาน ฯลฯ รวมนับร้อยโครงการ ก่อสร้างกระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ
2. งานในหน้าที่วิศวกรอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นผู้แทนกรมชลประทานรับผิดชอบปฏิบัติงานสนองพระราชดำริในทุกภาค เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2520 จนมีผลงานมากมายเป็นที่ประจักษ์ รวมนานกว่า 20 ปี
3. งานอำนวยการ ให้คำปรึกษา ควบคุมและวางแผนการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ได้แก่ ปัญหาน้ำขาดแคลนในฤดูแล้ง ปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน ทั้งในภาระหน้าที่ของกรมชลประทาน และในภาพรวมของรัฐบาล ได้แก่
- วิกฤตการณ์ภัยแล้งปี 2535 และ 2536
- วิกฤตการณ์อุทกภัยและภัยแล้ง ปี 2538
- วิกฤตการณ์อุทกภัยปี 2554
4. งานบริหารควบคุมดูแลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) และการก่อสร้างประตูระบายน้ำปากแม่น้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์) แล้วเสร็จทันการเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 และบริหารจัดการเขื่อนเก็บกักน้ำคลองท่าด่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เขื่อนขุนด่านปราการชล) ให้สามารถเปิดงานก่อสร้างตัวเขื่อนเป็นปฐมฤกษ์ได้ ในโอกาสมหามงคลฯนี้ เช่นเดียวกัน
5. งานเขียนเอกสารวิชาการและตำรา เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและใช้ประกอบการทำงานของนายช่างวิศวกรตลอดนักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป มีผลงานจำนวนมาก และยังเป็นวิทยากรบรรยายด้านวิชาการให้กับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาปีละหลายสิบแห่ง ซึ่งดำเนินการมานานหลายสิบปีตราบถึงปัจจุบัน เอกสารตำราที่สำคัญคือ หนังสือ “คู่มืองานเขื่อนดินขนาดเล็กและฝาย”
5. ทรรศนะต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นศาสตร์สำคัญในการใช้พัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบันประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีผู้ทรงความรู้และประสบการณ์อยู่เป็นจำนวนมาก ที่ปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา รวมตลอดถึงองค์กรเอกชนต่างๆ แต่ก็ยังมีความรู้สึกและทรรศนะต่อวงการนี้ว่า การพัฒนาประเทศอันมีผลมาจากวิทยาการทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมของเรายังคงไม่บังเกิดผลสัมฤทธิ์สูงตามที่มุ่งหวังเท่าที่ควรนัก
มีทรรศนะมองว่า ทั้งนี้ เนื่องมาจากการบริหารจัดการในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐบาลยังไม่มีความเป็นเอกภาพและไม่ครอบคลุมในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกลุ่มบุคคลในสังคมที่ต้องพึ่งพาและนำไปใช้ประโยชน์
มองการบริหารจัดการระดับชาติที่สำคัญคือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ซึ่งมีหน่วยงานและองค์การมหาชนในสังกัดจำนวนไม่น้อย มองว่าต่างก็บริหารงานของตนไปอย่างเป็นเอกเทศไม่เป็นเอกภาพ เพราะต่างก็เป็นนิติบุคคลคงไม่สามารถสร้างความหวังขับเคลื่อนการพัฒนาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้กระจายไปสู่สังคมวงการต่างๆจนเกิดประโยชน์กับประเทศโดยรวมได้มากเท่าใดนัก
6. กิจการอันเป็นคุณประโยชน์เพื่อสังคม สาธารณกุศล
สมัยรับราชการเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าได้ทำอาชีพข้าราชการของแผ่นดินอย่างเต็มความสามารถด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง มีผลงานเป็นคุณประโยชน์กับสังคมเป็นที่ประจักษ์
นอกเหนือจากงานอันเป็นภารกิจหลักของหน่วยราชการที่รับผิดชอบดังกล่าวแล้วยังได้แบ่งเวลาส่วนหนึ่งทำกิจกรรมอันเป็นคุณประโยชน์เพื่อสังคมและสาธารณกุศลอีกหลายด้าน อาทิ การเป็นวิทยากรบรรยายเผยแพร่ความรู้ด้านต่างๆ ให้กับหน่วยงาน องค์กร และสถาบันการศึกษา เป็นประจำ การเขียนบทความวิชาการ และเอกสารตำราเผยแพร่ ตลอดจนการเข้าไปมีส่วนร่วมทางานสาธารณกุศลให้กับชมรม มูลนิธิ และสมาคมต่างๆ ฯลฯ ด้วย
ปัจจุบันแม้จะอายุ 73 ปีแล้ว ยังออกจากบ้านไปทำงานเพื่อสังคมแทบทุกวัน ใช้ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ เป็นวิทยากรบรรยาย แนะนำเรื่องราวต่างๆ ที่ประเทศไทยกำลังประสบ คือปัญหาเรื่องน้ำ ที่นับว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ อีกทั้งการบรรยายเผยแพร่พระราชกรณียกิจ แนวคิด หลักคิด หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรูปแบบต่างๆ สู่คนรุ่นหลัง ณ ปัจจุบันนี้ ราวเดือนละเกือบ 10 แห่ง ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด และที่เป็นภาระงานประจำอีกอย่างหนึ่งในขณะนี้คือ การพูดทางวิทยุกระจายเสียงไปยังผู้ฟังทั่วประเทศให้กับสถานีวิทยุ 2 แห่ง เป็นรายการสดที่ห้องส่งของสถานีรวมสัปดาห์ละ 4 วัน เป็นประจำต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ซึ่งได้ทำมาเป็นเวลานานกว่า 5 ปีแล้ว สำหรับรายการที่ออกอากาศเผยแพร่นั้น คือ การเตือนภัยธรรมชาติ เรื่องราวเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำที่ประชาชนควรรู้ รายการ “พอเพียง เพื่อเพียงพอ”และชุด “ตามรอยพระยุคลบาท พ่อของแผ่นดิน” ซึ่งทุกรายการที่พูดออกอากาศเหล่านี้ผู้ฟังทั่วประเทศเป็นจำนวนมากติดตามฟัง และให้ความสนใจอย่างดียิ่ง
7. รางวัลเกียรติยศหรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์
7.1 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ
พ.ศ. 2544 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
พ.ศ. 2541 มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม)
พ.ศ. 2539 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)
พ.ศ. 2538 เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น 3 (ภ.ป.ร.3)
พ.ศ. 2532 เหรียญราชรุจิทอง (ร.จ.ท.)
7.2 รางวัลเกียรติคุณที่ได้รับ
จากผลงานในหน้าที่การงานที่กรมชลประทานและในภาพรวมของรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ซึ่งมีผลงานมากมายเป็นที่ประจักษ์จึงได้รับการยกย่องในด้านต่าง ๆ อาทิ
1. มหาวิทยาลัยและสถาบันต่าง ๆ ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เพื่อเป็นเกียรติประวัติรวม 7 แห่ง
2. บุคคลดีเด่นของชาติสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ด้านชลประทาน) จากคณะกรรมการเอกลักษ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2536
3. นิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดีเด่นประจำปี 2536 และดีเด่นแห่งทศวรรษ เมื่อ พ.ศ. 2541
4. นิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดีเด่นประจำปี 2538
5. “คนดีศรีสยาม” โดยสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตไทย เมื่อ พ.ศ. 2540
6. ครอบครัวประชาธิปไตยตัวอย่าง จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อพ.ศ. 2540
7. รางวัลเกียรติยศซึ่งเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดคือ การได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนกรุงเทพมหานคร เลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาของกรุงเทพมหานคร เมื่อ 4 มีนาคม 2543 ด้วยคะแนนมากเป็นลำดับที่ 1 ของประเทศ จำนวน 421,515 คะแนน
8. ประวัติส่วนตัวและประวัติการทำงาน
ประวัติส่วนตัว
เป็นชาวกรุงเทพมหานคร เกิดที่บ้านตำบลบางปะกอก อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี (เรียกชื่อในสมัยนั้น) บิดามารดามีอาชีพทำสวน เป็นบุตรคนโต มีน้องสาว 1 คน และน้องชาย 1 คน หลังจากจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนอำนวยศิลป์แล้ว ได้เข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมชลประทาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2501 จนจบปริญญาช่างชลประทานบัณฑิต (เกียรตินิยม) ในปี พ.ศ. 2506 ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จบปริญญา Master of Engineering (Irrigation and Water Resources Engineering) จาก University of California at Davis ในปี พ.ศ. 2509 และไปฝึกงานจนได้รับ Certificate in Irrigation, Drainage and Ground Water Engineering จากBureau of Reclamation ในปี พ.ศ. 2510
ประวัติการทำงาน
เริ่มรับราชการที่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2511 ตำแหน่งนายช่างโท กองวิชาการ มีตำแหน่งต่าง ๆ ที่สำคัญในกรมชลประทาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามลำดับดังนี้
4 มกราคม 2517 นายช่างเอก กองวิชาการ
9 กันยายน 2518 วิศวกรโยธา 6 กองออกแบบ
31 มีนาคม 2523 วิศวกรโยธา 7 กองออกแบบ
23 มกราคม 2527 ผู้อำนวยการสานักงานกิจกรรมพิเศษ (วิศวกรชลประทาน 8)
6 กันยายน 2534 ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ (วิศวกรชลประทาน 9)
1 ตุลาคม 2536 นายช่างใหญ่ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ (วิศวกรชลประทาน 9)
1 ตุลาคม 2537 ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
1 ตุลาคม 2540 อธิบดีกรมชลประทาน
1 ตุลาคม 2542 รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นอกจากนั้น ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่พิเศษ มีที่สำคัญดังนี้
พ.ศ.2536 – 2540 ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
พ.ศ.2538 – 2542 ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
พ.ศ.2538 – 2542 กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
พ.ศ.2540 – 2542 กรรมการการประปานครหลวง
พ.ศ.2540 – 2542 กรรมการควบคุมการประกอบอาชีพวิศวกรรม (ก.ว.)
พ.ศ.2540 – 2542 กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ และอุตสาหกรรมวิจัย
พ.ศ.2537 – 2542 กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการ พัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ
ประวัติการทำงานอื่น ๆ ที่สำคัญมีดังนี้
พ.ศ. 2543 – 2549 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2539 – 2551 กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำรงตำแหน่งอุปนายกสภาฯ และนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พ.ศ. 2544 – 2554 กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
พ.ศ. 2544 – 2548 กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
พ.ศ. 2531 – ปัจจุบัน กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา
พ.ศ. 2545 – 2551 กรรมการแผนกเกษตรศาสตร์ มูลนิธิ “อานันทมหิดล”
พ.ศ. 2552 – ปัจจุบัน รองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยมหิดล