ทำเนียบเกียรติยศ (Hall of Fame)

บุคคลคุณภาพแห่งปี 2013 ด้านเด็กและเยาวชน

 

 

ศ.ดร. พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อายุ 58 ปี

(อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)

 

1. หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน

- เจ้าอาวาส วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

- เจ้าคณะภาค 2

- อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

- กรรมการมหาเถรสมาคม

- ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก

- นายกสมาคมมหาวิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ

 

2. ประวัติการศึกษา

- ป.ธ.๙ (ขณะเป็นสามเณร)

- พุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) สาขาปรัชญา จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 

- Diploma in French, University of Delhi

- M.A ., M.Phil., (Philosophy) University of Delhi

- Ph.D. (Philosophy) University of Delhi

 

3. นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน

มีอุดมการณ์ในการทำงาน คือ มุ่งประกาศพุทธธรรมเพื่อสร้างสันติภาพแก่มวลมนุษยชาติ

            มีนโยบายในการทำงานคือ ทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับคนทั่วโลกโดยเฉพาะกับองค์การสหประชาชาติ เพื่อสร้างสันติภาพโลก

 

4. ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน

- ดำเนินการและประสานงานให้มีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540

- ในฐานะอธิการบดี ได้สร้างสำนักงานใหญ่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และได้เปิดการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ศรีลังกา และฮังการี

- ได้ประสานกับประมุขสงฆ์และผู้นำชาวพุทธทั่วโลกในการประชุมวิสาขบูชาโลก เมื่อ พ.ศ. 2548 ให้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมรับรองให้พุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก

- ในฐานะประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก ได้ดำเนินการให้สภาสากลวันวิสาขบูชาโลก (International Council for the Day of Vesak) ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศไทยมีสถานะเป็นองค์กรที่ปรึกษาพิเศษ (Special Consultative Status) ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ เป็นผลสำเร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556

 

5. ทรรศนะต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ได้เคยแสดงทรรศนะไว้ในการแสดงปาฐกถาธรรมเฉลิมพระเกียรติเรื่อง “พระพุทธศาสนาและวิทยายาศาสตร์ : สร้างสรรค์วัฒนธรรมแห่งปัญญา” ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ พ.ศ. 2552 ไว้ดังต่อไปนี้

พระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ต่างเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของวัฒนธรรม ชาวพุทธเปรียบเทียบคนที่มีความรู้ทั้งสองด้านเหมือนคนที่มีดวงตาสองข้าง(ทวิจักขุ) ดวงตาข้างหนึ่งคือความรู้ด้านศาสนา ส่วนดวงตาอีกข้างหนึ่งคือความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ คนที่มีความรู้ทั้งสองด้านเช่นนี้จัดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

            “การที่คนคนเดียวจะมีความรู้ทั้งด้านพระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์เช่นนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ไม่ยาก ทั้งนี้เพราะปัญญาในพระพุทธศาสนาและปัญญาในวิทยาศาสตร์ไม่ได้ขัดแย้งกันหากแต่ส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “นาหํ ภิกฺขเว โลเกน วิวทามิ” เป็นต้น แปลความว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตย่อมไม่ขัดแย้งกับชาวโลก แต่ชาวโลกย่อมขัดแย้งกับเรา ธรรมวาทีย่อมไม่ขัดแย้งกับใครๆ ในโลก

ธรรมวาทีคือคนที่ศึกษาธรรมและประกาศธรรม คำว่าธรรมหมายถึงความจริงตามธรรมชาติที่มีอยู่เองโดยไม่มีการแต่งเติมเสริมต่อ คำว่าปัญญาในพระพุทธศาสนาหมายถึงการรู้เห็นความจริงในธรรมชาติตามที่เป็นจริง(ยถาภูตญาณทัสสนะ) สัจธรรมความจริงในธรรมชาติที่มีการค้นพบไม่ว่าจะโดยนักศาสนาหรือนักวิทยาศาสตร์ก็ย่อมเป็นสัจธรรมอยู่วันยังค่ำ เหมือนกับทองย่อมเป็นทองตลอดเวลา

แม้พระพุทธศาสนาได้ค้นพบสัจธรรมความจริงในธรรมชาติแล้วพระพุทธศาสนาก็ไม่มีการผูกขาดสัจธรรมความจริงนั้นว่ามีเฉพาะในพระพุทธศาสนา ชาวพุทธสามารถยอมรับความจริงในธรรมชาติที่นักวิทยาศาสตร์ต่างทยอยกันค้นพบภายหลังการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

 

6. กิจการอันเป็นคุณประโยชน์เพื่อสังคม สาธารณกุศล

- ประธานกรรมการจัดทำรายละเอียดสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนา ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ของกระทรวงศึกษาธิการ พุทธศักราช 2544

            - ประธานอนุกรรมการจัดอบรมครูสอนพระพุทธศาสนา ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544

            - ประธานกรรมการจัดทำหนังสือเรียนพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544

            - จัดส่งพระบัณฑิตอาสาจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้นดอยเพื่อสอนพระพุทธศาสนาและภาษาไทย พร้อมกับนำพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา

            - ทุกครั้งที่เกิดอุทกภัยในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค 2 คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดสระบุรี ได้นำสิ่งของบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา

            -  บริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ รวมทั้งได้จัดส่งพระนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยไปช่วยเหลือฟื้นฟูด้านจิตใจแก่ผู้ประสบภัยที่บ้าน้ำเค็ม จังหวัดพังงา เมื่อ พ.ศ. 2547

            - พาคณะไปให้ความช่วยเหลือบริจาคทรัพย์และสิ่งของแก่ผู้ประสบภัยจากพายุนาร์กิส ที่ประเทศเมียนมาร์ เมื่อ พ.ศ. 2551

            - เมื่อเกิดมหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง เมื่อ พ.ศ. 2554 ได้จัดตั้งศูนย์พักพิงช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

7. รางวัลเกียรติยศหรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์

1. ได้รับรางวัลคนดีศรีสังคม จากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2537

2. ได้รับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักรด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พ.ศ. 2539

3. ได้รับรางวัลมหิดลวรานุสรณ์ พ.ศ. 2540

4. ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาการศึกษา จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2541

5. ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2544

6. ได้รับปริญญาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพระพุทธศาสนา จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2547

7. ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารองค์การ จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม พ.ศ. 2547

8. ได้รับรางวัลกิตติคุณ “เสมาคุณูปการ” จากกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2548

9. ได้รับเข็มกิตติคุณสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2548

10.  ได้รับพระราชทานรางวัล “ศาสตรเมธี” สาขาศึกษาศาสตร์ ด้านการบริหารการศึกษา จากมูลนิธิศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ศ. 2548

11. ได้รับสมณศักดิ์ที่ “อัคคมหาสัทธัมมโชติกธชะ” จากคณะสงฆ์และรัฐบาล ประเทศพม่า พ.ศ. 2550

12. ได้รับเกียรติบัตรศิษย์เก่าดีเด่นเกียรติคุณของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2550

13. ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาอังกฤษ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. 2552

14. ได้รับปริญญาศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล พ.ศ. 2552

15. ได้รับพระบรมราชโองการโปรดแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประเภทวิชาปรัชญา พ.ศ. 2552

16. ได้รับประกาศเกียรติคุณเป็นนักจิตวิทยาดีเด่น สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา จากสมาคมจิตวิทยาแห่ง

 

ประเทศไทย พ.ศ. 2553

17. ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยศาสตร์ (Humane Letters) จากมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเวียดนาม พ.ศ. 2554

18. ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย จากกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2554

19. ได้รับรางวัลพุทธคุณูปการ วัชรเกียรติคุณ จากคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554

20. ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม พ.ศ. 2554

21. ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2555

 

8. ประวัติส่วนตัวและประวัติการทำงาน

            - เมื่อสอบได้เปรียญธรรมประโยค 9 ประโยคขณะเป็นสามเณร ได้รับการอุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะนาคหลวง

- หลังจากที่จบปริญญาเอก ได้เป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยระยะหนึ่ง ในปี 2529 ได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมให้ไปเป็นพระธรรมทูต ประจำวัดธัมมาราม ชิคาโก สหรัฐอเมริกา และกลับมารับตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิชาการ และเป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยรูปแรกในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจากสมเด็จพระสังฆราช ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ถึงปัจุบัน ในฐานะอธิการบดี ได้ก่อสร้างสำนักงานใหญ่ของมหาวิทยาลัย ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

- ได้นิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและปรัชญากว่า 80 เล่ม ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เช่น ปรัชญากรีก,  วิมุตติมรรคพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์พระพุทธศาสนากับความสมานฉันท์แห่งชาติ, Buddhist Morality,  A Buddhist Worldview

- ได้บรรยายธรรมทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์เป็นประจำ และรับอาราธนาไปบรรยายธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการไปบรรยายธรรมเป็นภาษาอังกฤษเนื่องในวันวิสาขบูชาที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติเมื่อ พ.ศ. 2547 และที่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส เมื่อ พ.ศ. 2554

- ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคมและรัฐบาลให้เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานการประชุมนานาชาติ ในวันวิสาขบูชาโลก ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ถึงปัจจุบัน

            - ในการประชุมวิสาขบูชาโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2548 ประมุขสงฆ์และผู้นำชาวพุทธทั่วโลกได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมรับรองให้พุทธมณฑลเป็นศูนย์กลาพระพุทธศาสนาของโลก

- ได้รับพระบรมราชโองการโปรดแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาปรัชญาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2546

- ได้รับพระบรมราชโองการโปรดแต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาปรัชญา เมื่อ พ.ศ. 2552

ได้รับพระราชทานตั้ง เลื่อนและสถาปนาสมณศักดิ์ตามลำดับ ดังนี้

- พ.ศ. 2532 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระเมธีธรรมาภรณ์

- พ.ศ. 2539  เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชวรมุนี

- พ.ศ. 2543 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระเทพโสภณ

- พ.ศ. 2548 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ในราชทินนามที่ พระธรรมโกศาจารย์

- พ.ศ. 2555 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ในราชทินนาม ที่ พระพรหมบัณฑิต

 

 

มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สถานที่ติดต่อ :

288/52 อาคารมูลนิธิ มสวท. ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220

Tel. +66(0) 2552-5200 Fax. +66(0) 2551-4422 Email : thaifstt@gmail.com 

Copyright © 2008-2015 หากมีปัญหาในการรับชมกรุณาติดต่อ Webmaster ที่ admin@thaifstt.org