ทำเนียบเกียรติยศ (Hall of Fame)
บุคคลคุณภาพแห่งปี 2012 ด้านเด็กและเยาวชน
ดร. แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต (59 ปี)
(ประธานมูลนิธิเสถียรธรรมสถาน)
1. หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน
- ประธานมูลนิธิเสถียรธรรมสถาน
- ผู้อำนวยการสถาบัน สาวิกาสิกขาลัย
- ผู้บริหารโครงการ “บ้านสายสัมพันธ์” เสถียรธรรมสถาน
- ผู้บริหารโครงการ ศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต
- ผู้บริหารโครงการ โรงเรียนพ่อแม่
- ผู้บริหารโครงการ “สร้างโลกโดยผ่านเด็กที่นี่”
2. ประวัติการศึกษา
พ.ศ. 2528 คศ.บ. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
พ.ศ. 2550 พธ.ด. กิตติมศักดิ์ (สาขาวิชาธรรมวิเทศ) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2552 พย.ด. กิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
3. นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน
- หลังจาก 7 ปี ในการบวชเรียนศึกษาปฏิบัติธรรมจนพบว่าธรรมะขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถแก้ปัญหาความทุกข์ในชีวิตได้จริง จึงก่อตั้งเสถียรธรรมสถานขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2529 ด้วยความกตัญญูต่อพระธรรมที่จะนำพุทธธรรมมาช่วยเหลือสังคม โดยมีวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งคือ ให้ “เสถียรธรรมสถานเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างศานติของคนทุกวัย ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตจนถึงวันที่คืนชีวิตสู่ธรรมชาติ เพื่อสร้างสังคมโลกให้อยู่เย็นเป็นสุข พ้นทุกข์ร่วมกัน”
- ข้าพเจ้าเชื่อเหลือเกินว่า ถ้าเราเชื่อในกฎของกรรม เชื่อในกฎของธรรมชาติ ว่าทำอะไรได้อย่างนั้น รางวัลของการทำงานจริงๆ ก็ย่อมจะเป็นความสุขที่ได้จากการทำงาน ส่วนการได้รับรางวัลที่ผู้อื่นมอบให้ก็เป็นเหตุปัจจัยที่ควรอนุโมทนาในการทำงานอย่างมีความสุขของคนแต่ละคน เพราะฉะนั้น การให้รางวัลชีวิต ก็คือการรักษาความสุข สนุกอยู่ในงานของเรา และนั่นก็เท่ากับว่า เราได้รางวัลทุกวันอยู่แล้ว
4. ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน
ตลอดระยะกว่า 32 ปี กับภารกิจธรรมอันยิ่งใหญ่ ที่ทำให้แม่ชีศันสนีย์มีผลงานโดดเด่นไม่น้อย ที่รู้จักกันดี คือ การสร้าง “เสถียรธรรมสถาน” สถานที่ปฏิบัติธรรมและเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างศานติ ซึ่งแต่ละปีมีผู้สนใจเข้าฟังธรรมหลายพันคน รวมถึงงานโครงการต่างๆอีกมากมาย ได้แก่ โครงการ “บ้านสายสัมพันธ์” สถานที่เยียวยาชีวิตผู้หญิงที่ถูกกระทำทารุณ รวมถึงแม่ที่เปลี่ยนใจไม่ทำลายชีวิตลูก โดยมีผู้หญิงที่เคยผ่านเข้ามาในบ้านหลังนี้จำนวนหลายหมื่นคน เป็นการค้นพบหนทางในการยุติปัญหาความรุนแรงและลดจำนวนการทำแท้ง ซึ่งเป็นปัญหาสังคมที่ขยายตัวมากขึ้นอย่างน่าตกใจ และวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวจากงานในโครงการบ้านสายสัมพันธ์ ได้รับการขยายผลผ่านระบบราชการของไทยไปทั่วประเทศแล้ว ในรูปแบบของ "บ้านพักฉุกเฉิน" ในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โครงการศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต เป็นการจัดการศึกษาวิถีพุทธระดับปฐมวัยในบ้านเรียนแห่งรักและศานติ เพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กในวัยแรกเกิด - 7 ขวบ ก่อนออกไปสู่โลกกว้าง แม่ชีศันสนีย์ยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการโรงเรียนพ่อแม่ และ โครงการจิตประภัสสร เพื่อส่งเสริมให้พ่อแม่ได้ศึกษา ปฏิบัติและแบ่งปันประสบการณ์ การใช้พุทธวิธีในการครองชีวิตครอบครัว และอบรมเลี้ยงดูลูก โดยเฉพาะการจัดการอารมณ์ตนเองและการสื่อสารกันในครอบครัว และเพื่อส่งเสริมให้เด็กและครอบครัวได้สัมผัสประสบการณ์การใช้ชีวิตในกระแสของอริยบุคคล เพื่อสร้างวงศาคณาญาติให้เด็กและครอบครัวได้มีที่ปรึกษาระยะยาว ในการครองชีวิตครอบครัวและการอบรมเลี้ยงดูลูกบนหนทางอริยะ หลายโครงการของแม่ชี เป็นการทำงานร่วมกันด้วยจิตวิญญาณของ ‘บวร-บ้าน วัด โรงเรียน’ ที่ไม่มีรั้ว โดยนำความอบอุ่นของบ้าน ความมีวินัยของวัด คือการอยู่ร่วมกันอย่างไม่เบียดเบียนทั้งต่อตนเองและผู้อื่น และการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามวัยของโรงเรียน มาบูรณาการเป็น “ชุมชนแห่งการเรียนรู้ของคนทุกวัยในครอบครัว” และสร้างวงศาคณาญาติที่เกื้อกูลต่อการเลี้ยงดูเด็ก ทั้งที่คลอดมาจากโครงการจิตประภัสสรตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์และเด็กในครอบครัวที่มาลงทุนร่วมกัน ที่จะเรียนรู้การสร้างโลกให้มีอริยะ...ด้วยการสร้างเด็ก ในนาม “โรงเรียนพ่อแม่...อริยะสร้างได้”
นอกจากนี้ แม่ชีศันสนีย์ยังเป็นผู้ก่อตั้งสถาบัน “สาวิกาสิขาลัย” สถาบันการศึกษาเพื่อส่งเสริมการบรรลุธรรม โดยเปิดสอนหลักสูตรสาขาวิชาศาสตร์และศิลป์แห่งชีวิต เปิดรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในปีการศึกษา 2551 โดยจะเริ่มเปิดวิทยาลัยด้วยโครงการปริญญาโท ปริญญาเอก และหลักสูตรนานาชาติในอนาคต ภายใต้การทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเปิดโอกาสให้กับบุคคลทั่วไปที่สนใจเพื่อนำไปสู่การบรรลุธรรม โดยผู้จบหลักสูตรจะได้รับประสาทปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยด้วย
แม่ชีศันสนีย์ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะตัวแทนนำเสียงผู้หญิงไปสู่เวทีโลก ในงานประชุมผู้นำสตรีทางศาสนาและจิตวิญญาณเพื่อสันติภาพโลก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 2545 ทำให้ “แม่ชี” ได้เจอกับ “วิคตอเรีย โฮลท์” สื่อมวลชนชาวอังกฤษ ที่ประทับใจในคำพูดที่แฝงแง่คิด และสนใจศึกษาเรื่องราวแม่ชีอย่างจริงจัง นอกจากนี้ แม่ชียังสร้างคุณูปการอีกจำนวนมาก เช่น การให้กำลังใจผู้เดือดร้อนด้วยความสุข สงบ ในเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ธรณีพิบัติภัยสึนามิ สงครามความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ บทบาทในเวทีผู้นำสตรีทางจิตวิญญาณเพื่อศานติภาพโลก ฯลฯ กระทั่งถูกจารึกความสุขสงบนั้นไว้ในแผ่นฟิล์มฮอลลีวู้ด เรื่อง อะ วอล์ค ออฟ วิสดอม
คุณธรรมที่ควรเอาเป็นแบบอย่าง
- เป็นผู้ที่มีความมานะอดทนไม่ย้อท้อต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเอง
- เป็นผู้ที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทั้งทางโลกและทางธรรม
- เป็นผู้ที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาและสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ดำรงสืบต่อไป
- เป็นบุคคลที่ให้อภัยแก่ผู้อื่น ไม่ถือโทษโกรธผู้ที่กระทำสิ่งไม่ดีต่อตนเอง
- เป็นบุคคลที่อยู่ในศีลธรรมอันดีงามและสามารถเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนให้กับผู้อื่น สมควรแก่การยกย่อง
- เป็นสตรีที่สตรีทั้งหลายควรเอาเป็นแบบอย่าง
5. ทรรศนะต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
วิทยาศาสตร์ คือศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล ผู้ที่เชื่อในวิทยาศาสตร์...จึงเชื่อ...เมื่อมีโอกาสได้ทดลองและเห็นซึ่งผลของการทดลองนั้นด้วยตนเอง ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มากมายถูกคิดค้นขึ้นตลอดทุกวินาที ศาสตร์ซึ่งถูกทดสอบโดยนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายนี้ทำให้มนุษย์ “พ้นทุกข์ทางกาย” ทว่าไม่สามารถบำบัดหรือแก้อาการให้มนุษย์ “พ้นทุกข์ทางใจ” ไปได้ ตัวอย่างหนึ่งซึ่งยังคงเห็นได้ ไม่ว่าวิทยาศาสตร์จะพัฒนาไปมากมายเพียงใด คือ เมื่อใดก็ตามที่ป่วยกาย วิทยาศาสตร์สามารถช่วยทุเลาอาการเจ็บปวดที่กายให้เบาบางลงไปได้ ทว่ากับอาการเจ็บป่วยซึ่งเกิดขึ้นที่ใจในขณะที่ร่างกายเจ็บนั้น ไม่มียาหรือเครื่องมือรักษาสมัยใหม่ชนิดใดจะช่วยให้หายจากอาการนั้นได้ นอกเสียจากบุคคลผู้นั้นจะเรียนรู้และยอมรับในความจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป” เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา และเป็นความจริงพร้อมทั้งเชื่อมั่นและปฏิบัติตามสิ่งซึ่งเราเรียกกันว่า “อริยมรรคมีองค์ 8” หรือแนวทางดำเนินอันประเสริฐของชีวิตเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์
เมื่อกว่า 2,600 ปี ที่ผ่านมา บุรุษหนึ่งได้ทดลองและพิสูจน์ด้วยตนเองให้เราเห็นแล้วว่า สามารถพ้นจากความทุกข์ได้ด้วยการดำเนินตามหนทางแห่งมรรคมีองค์ 8 บุรุษหนึ่งนั้น คือองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีโจทย์ใหญ่ที่ต้องการแก้ไขเหมือนกัน คือ ทำอย่างไรมนุษย์จึงจะพ้นทุกข์ได้ และเพราะทั้งสองศาสตร์ดังกล่าวมีมนุษย์เป็นเงื่อนไข มนุษย์จึงต้องเป็นผู้ทดลองใช้ศาสตร์นั้นด้วยตนเอง
6. กิจการอันเป็นคุณประโยชน์เพื่อสังคม สาธารณกุศล
บทบาทการทำงานระดับชาติ อาทิ
- คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ
- ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- คณะที่ปรึกษาฝ่ายการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
- ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ภายใต้คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน 100 ปีพุทธทาสภิกขุ กระทรวงศึกษาธิการ
- คณะกรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ “โครงการสายใยรักจากครอบครัว” โดยพระปณิธานของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร
- ที่ปรึกษากรรมการอำนวยการโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ กระทรวงศึกษาธิการ
- ประธานอนุกรรมการการพิจารณาคัคเลือก 100 ตัวแทนทำดีเพื่อพ่อ ในคณะกรรมการการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
- คณะกรรมการจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี 2554
- คณะอนุกรรมการด้านวิชาการ คณะกรรมการงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2555
บทบาทการทำงานระดับโลก อาทิ
- ประธานร่วมของ The Global Peace Initiative of Women [GPIW], United Nations Development Programme [UNDP]
- The Living Wellness Foundation ได้มอบรางวัล Spiritual Leadership Awardในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณ ในการยุติความรุนแรงในเด็กและสตรี
- เจ้าภาพร่วมจัดการประชุมนานาชาติศากยธิดา ครั้งที่ 12 ขององค์กรนานาชาติศากยธิดา
7. รางวัลเกียรติยศหรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์
รางวัลเกียรติคุณที่ได้รับ
พ.ศ. 2542 รางวัลเชิดชูเกียรติ ‘เพชรกรุงเทพ’ สาขาบริการสังคม ครั้งที่ 3 ประจำปี 2542 จากกรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2548 รางวัลเสียงแห่งความศักดิ์สิทธิ์ (Spiritual Leadership Award on Breaking the circle of Violence) จาก Living Wellness Foundationสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. 2549 รางวัล “กิฟฟารีน เกรส เลดี้ อวอร์ด 2006” จาก บริษัทกิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด
พ.ศ. 2550 รางวัลสตรีดีเด่นกรุงเทพมหานคร สาขาการศึกษาและคุณธรรมจริยธรรม เนื่องในวันสตรีสากล ปี 2550
พ.ศ. 2550 ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมวิเทศ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2551 รางวัลเชิดชูเกียรติ “เพชรสยาม” ด้านส่งเสริมศาสนาเพื่อสันติภาพ ประจำปีพุทธศักราช 2551 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
1 พ.ค. 2251 รางวัลผู้อุทิศตนเพื่อมนุษยชาติ (Humanitarian Award) จาก Humanity In Unity (HIU) ของ Her Holiness Sai Maa Lakshmi Devi ณ เมืองเวลล์ รัฐโคโรลาโด ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. 2552 รางวัลพุทธคุณูปการ ระดับรัชตเกียรติคุณ จากคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
พ.ศ. 2552 ปริญญาพยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
พ.ศ. 2552 รางวัลจำนงค์ ทองประเสริฐ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ด้านการเผยแผ่ จากมูลนิธิจำนงค์ ทองประเสริฐ
8. ประวัติส่วนตัวและประวัติการทำงาน
- ผู้ก่อตั้ง เสถียรธรรมสถาน ชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างศานติ
- ผู้ก่อตั้งสถาบัน สาวิกาสิกขาลัย มหาวิชชาลัยธรรมะเพื่อเยียวยาสังคม ที่มุ่งสอน “ธรรมะในฐานะแก่นของชีวิต” เพื่อส่งเสริมการบรรลุธรรมตามอุดมคติของพุทธศาสนา นั่นคือการมีชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ โดยนำหลักพุทธศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตในทุกช่วงวัย จัดการเรียนการสอนในระบบหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพุทธศาสตร์และศิลปะแห่งชีวิต
- ประธานมูลนิธิเสถียรธรรมสถาน
- วิทยากรประจำและผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน
- พิธีกรรายการธรรมสวัสดี
- ผลงานหนังสือแนวธรรม