ทำเนียบเกียรติยศ (Hall of Fame)
บุคคลคุณภาพแห่งปี 2010 ด้านเทคโนโลยี
ดร.ประสิทธิ์ ทีฆพุฒิ (อายุ 51 ปี)
Dr. Prasit Teekaput
(ประธานมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย)
President of Foundation of Science and Technology Council of Thailand
1. หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน
1.1 ประธานมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.)
1.2 ประธานอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ (6 สาขาวิชาชีพ) กระทรวงแรงงาน
1.3 ประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการเฉลิมพระเกียรติ 5 ธันวามหาราช มูลนิธิ 5 ธันวามหาราช
1.4 ประธานสภามนตรีกิตติมศักดิ์ และนายกสภาสมาคมกิตติมศักดิ์ สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
1.5 รองศาสตราจารย์ ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. ประวัติการศึกษา
พ.ศ. 2525 วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (ไฟฟ้า) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2527 M.S.EE., The University of Texas (Arlington), U.S.A.
พ.ศ. 2533 Ph.D. Virginia Tech (VPI&SU), U.S.A.
3. นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน
ความเข้าใจในเนื้องานเป็นหัวใจของการทำงาน มองที่จุดหมายไม่ใช่ที่อุปสรรค เพราะอุปสรรคมักก่อให้เกิดปัญญาเสมอ ไม่มีคำว่ายอมแพ้ถ้ายังไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่ หลายครั้งแทบมองไม่เห็นความเป็นไปได้ของโอกาสในความสำเร็จ แต่ก็พยายามแก้ไขโดยการสร้างโอกาสขึ้นมาเอง การสร้างสรรค์เป็นสีสันของชีวิต การเป็นคนมีมนุษย์สัมพันธ์ดี ถ่อมตน ให้เกียรติ ให้ความสำคัญกับผู้อื่นและรู้คุณคนเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่ได้ยึดถือตลอดมา
การทำงานในมิติของการบริหารองค์กรหรือกลุ่มบุคคลจะมุ่งเป้าหมายการทํางานให้สําเร็จ โดยใช้กลยุทธ์ อ่านคนให้ออก ใช้คนให้เป็น ให้เกียรติคน การทำงานต้องผ่อนปรนเพื่อก่อให้เกิดมิตรภาพ การครองใจคนจึงเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ยิ่งมีสถานะสูงเท่าไรก็ยิ่งต้องวางตัวให้เล็กลงเท่านั้น ทำให้กิจกรรมใหญ่ๆในแต่ละครั้งมักมีคนยินดีมาช่วยงานอย่างล้นหลาม
4. ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน
การกระทำที่ทำให้มีความสุข โดยเฉพาะความสุขที่ได้จากการสร้างโอกาสให้ผู้อื่น ได้เห็นคนอื่นประสบความสำเร็จ โดยที่เราไม่มุ่งหวังผลตอบแทนใดๆ บางครั้งยิ่งให้มากก็เหมือนยิ่งได้กลับมาเพิ่มขึ้น ความสุขที่อยู่ในใจนี้เป็นสัจธรรม มีความมั่นคงและสมบูรณ์ในตัวเอง ความสุขเหล่านี้น่าจะเทียบได้กับความสำเร็จในชีวิตการทำงานความสำเร็จไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่เกิดจากการเดินตามฝันของคนที่มีไฟในการทำงาน
5. รางวัลเกียรติยศหรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์
5 ธันวาคม 2539 ตริยาภรณ์ช้างเผือก
5 ธันวาคม 2541 ทวิติยาภรณ์มงกุฎไทย
5 ธันวาคม 2544 ทวิติยาภรณ์ช้างเผือก
5 ธันวาคม 2547 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย
5 ธันวาคม 2550 ประถมาภรณ์ช้างเผือก
6.ประวัติส่วนตัวและประวัติการทำงาน
2525 - 2529 Research Assistant, Center for advanced Electron Devices, The University of Texas at Arlington, Arlington, Texas, U.S.A.
2529 - 2533 Research Assistant, Electrical Engineering Department, Virginia Polytechnic and State University, Blacksburg, Virginia, U.S.A.
2534 - ปัจจุบัน รองศาสตราจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2535 - ปัจจุบัน หัวหน้าโครงการวิจัยด้านสื่อสารโทรคมนาคมหลายโครงการ
2535 - ปัจจุบัน ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารจัดการองค์กรและด้านโทรคมนาคม แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน
2535 - 2537 ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ด้านสื่อสารโทรคมนาคม)
2535 - 2537 ประธานคณะทำงานพัฒนาสื่อสารโทรคมนาคม กระทรวงคมนาคม
2535 - 2539 กรรมการพัฒนากิจการอวกาศ กระทรวงคมนาคม
2535 - 2540 กรรมการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของดาวเทียมและสถานีดาวเทียม กระทรวงคมนาคม (ดาวเทียมไทยคม 1,ดาวเทียมไทยคม 2, และ ดาวเทียมไทยคม 3)
2536 - 2539 ที่ปรึกษาด้านกิจการอวกาศ กระทรวงคมนาคม
2536 - 2537 ผู้ทำงานในคณะทำงานศึกษาและพิจารณา สัญญาร่วมงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ (2 ล้านเลขหมายสำหรับเขตโทรศัพท์นครหลวงและ 1 ล้านเลขหมายสำหรับเขตโทรศัพท์ภูมิภาค) กระทรวงคมนาคม
2536 - 2537 กรรมการพิจารณาข้อเสนอแนะ การเพิ่มจำนวนผู้รับสัมปทานบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และผู้ทำงานในคณะทำงานพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะ การเพิ่มจำนวนผู้รับสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ กระทรวงคมนาคม
2537 - 2538 ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (ด้านสื่อสารโทรคมนาคม)
2537 - 2538 ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
2537 - 2538 ที่ปรึกษาประจำคณะอนุกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร
2537 - 2539 ที่ปรึกษาประจำสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
2542 กรรมการจัดทำหนังสือพระมหากษัตริย์นักวิทยาศาสตร์ (เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 6 รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)
จัดทำโดยสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
2542 - 2547 กรรมการบัญญัติศัพท์เทคโนโลยีสารสนเทศ ราชบัณฑิตยสถาน
2542 - 2547 กรรมการส่งเสริมการพัฒนาทางวิชาการสถาบันการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ (ทบวงมหาวิทยาลัย)
2542 - 2553 อนุกรรมการโครงการพิเศษที่ใช้ทุนประเดิมในการลงทุนและบริหาร(โครงการพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยปฏิบัติการวิจัยและบริหารคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2544 - 2545 คณะทำงานด้านโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ กระทรวงคมนาคม
2544 - 2546 คณะทำงานเตรียมการประชุมใหญ่ระดับโลกว่าด้วยวิทยุคมนาคม ค.ศ. 2003 ขององค์การโทรคมนาคมแห่งเอเซียและแปซิฟิก (APT Conference Preparatory Group Meeting for WRC-2003) กรมไปรษณีย์โทรเลข
2544 - 2547 รองประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ วุฒิสภา
2544 - 2547 ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการองค์กรอิสระ วุฒิสภา
2544 - 2548 รองประธานสภามนตรี สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
2546 ที่ปรึกษาและร่วมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาประเมินผลงานวิจัยสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม กระทรวงกลาโหม
2547 - 2549 รองประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์แห่งชาติคณะกรรมาธิการองค์กรอิสระ วุฒิสภา
2547 - 2548 ประธานอนุกรรมการยกร่างและกลั่นกรองแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
2547 - 2548 รองประธานโครงการจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
2548 - 2549 รองประธานกรรมการกิจการร่างหลักเกณฑ์ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมสื่อสารและโครงข่ายสถานีวิทยุคมนาคมภาคพื้นดินสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
2548 - 2551 ประธานสภามนตรี สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวทท.)
2548 - ปัจจุบัน ประธานอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสาขาโทรคมนาคม กระทรวงแรงงาน (5 สาขาวิชาชีพ)
2548 - ปัจจุบัน ประธานโครงการวิชาการเฉลิมพระเกียรติ
2548 - ปัจจุบัน ประธานโครงการ ICT_TELECOMONLINE
2548 - ปัจจุบัน ประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการเฉลิมพระเกียรติ 5 ธันวามหาราช มูลนิธิ 5 ธันวามหาราช
2550 - ปัจจุบัน ประธานอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสาขานักออกแบบระบบสื่อสารโทรคมนาคม กระทรวงแรงงาน (1 สาขาวิชาชีพ)
2551 - ปัจจุบัน หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยไฟฟ้าสื่อสาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2552 Expertin World Skills Competition 2009 at Calgary, Canada
2551 - 2553 นายกสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2551 - ปัจจุบัน ประธานมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
7. ผลงานคุณภาพดีเด่น
- มิติด้านการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงาน
มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเป็นข้อกำหนดทางวิชาการที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดระดับฝีมือ ความรู้ความสามารถในการทำงานของผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆเพื่อประเมินศักยภาพ ทักษะฝีมือและสมรรถนะการทำงานของแรงงานฝีมือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับการแข่งขันของประเทศ
ในปี พ.ศ. 2548 ดร.ประสิทธิ์ได้รับการร้องขอให้ช่วยดูแลการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติด้านโทรคมนาคมและได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสาขาโทรคมนาคม กระทรวงแรงงาน 5 สาขาวิชาชีพ ได้แก่สาขาการสื่อสารดาวเทียมและไมโครเวฟ สาขาการสื่อสารข้อมูล สาขาข่ายสายตอนนอก สาขาเครือข่ายมีสาย และสาขาเครือข่ายไร้สาย และในปี พ.ศ. 2550 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสาขานักออกแบบระบบสื่อสารโทรคมนาคม ในการทำงานกำหนดมาตรฐานได้ดำเนินไปอย่างมีขั้นตอนที่รัดกุม เป็นระบบ รอบคอบ และตรงกับความเป็นไปของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มีการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และทำการทดลองทดสอบ เมื่อได้ผลเป็นที่พอใจแล้วจึงนำไปให้กระทรวงแรงงานรับรอง และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อประกาศใช้โดยให้มีผลทั่วประเทศ ต่อมา ปี พ.ศ. 2551 ได้มีการประกาศใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติด้านโทรคมนาคมทั้ง 6 สาขาวิชาชีพ ซึ่งเป็นความสำเร็จในก้าวแรกของการสร้างคน สร้างงาน สร้างอาชีพ ด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมให้เกิดผลในวงกว้างแบบครอบคลุมทั่วประเทศ
- มิติด้านการแข่งขันฝีมือแรงงานเพื่อเทิดพระเกียรติ
ดร.ประสิทธ์ ในฐานะประธานโครงการ “ค้นหาสุดยอดช่างฝีมือโทรคมนาคมและไอซีทีเฉลิมพระเกียรติ” ได้ริเริ่มโครงการเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ และเพื่อส่งเสริมอาชีพช่างโทรคมนาคมและไอซีทีให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในมาตรฐานวิชาชีพ นอกจากจะส่งเสริมการสร้างอาชีพให้คนไทยแล้ว ยังเผยแพร่และเป็นเวทีให้ช่างคุณภาพได้แสดงผลงานของตนเองและยกระดับมาตรฐานของอาชีพช่างในอนาคต อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สามารถจะสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวเองโดยสามารถทำควบคู่กับงานประจำหรือสามารถยึดเป็นอาชีพหลักได้
โครงการค้นหาสุดยอดช่างฝีมือโทรคมนาคมและไอซีทีเฉลิมพระเกียรติ ได้จัดขึ้นครอบคลุมทั่วประเทศเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 และครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งโครงการฯประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวาง ด้วยความร่วมมือของ มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน มูลนิธิ 5 ธันวามหาราช และภาคเอกชน ในปี พ.ศ. 2553 ได้จัดทำโครงการฯอีกเป็นครั้งที่สาม โดยปรับรูปแบบให้เป็นการสมัครแบบออนไลน์ และสอบแข่งขันภาคทฤษฎีออนไลน์ทั่วประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีจากความก้าวหน้าของอินเทอร์เน็ตมาช่วยในการดำเนินการ
โครงการฯมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 12 สิงหาคม ถึง 5 ธันวาคม ของทุกปี ผู้ชนะเลิศแต่ละสาขาจะได้รับเกียรติให้เข้ารับโล่เกียรติยศจากมูลนิธิ 5 ธันวามหาราชในงานมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง
- มิติด้านฝีมือแรงงานในระดับนานาชาติ
ดร.ประสิทธิ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการบุกเบิกอาชีพช่างฝีมือด้านโทรคมนาคมและไอซีทีให้ก้าวไปสู่มาตรฐานวิชาชีพในเวทีระดับโลก จึงได้ริเริ่มจัดทำ “โครงการแข่งขัน National Skills Competition in Telecom and IT/PCNetwork 2009”ในระหว่างวันที่ 5 มกราคม - 27 มีนาคม 2552 โดยจัดการแข่งขันทั่วประเทศในสาขา Telecom และ IT/PC Network เพื่อคัดเลือกผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศ เข้าเก็บตัวเป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขัน World Skills Competition 2009 ณ ประเทศแคนาดา
การทำงานบางครั้งอุปสรรคที่คาดไม่ถึงก็อาจเกิดขึ้นเพื่อทดสอบความมุ่งมั่นของคนทำงาน เนื่องจากการส่งผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขัน World Skills Competition 2009 ณ ประเทศ แคนาดา ในสาขาดังกล่าว ทางรัฐบาลและกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมิได้เตรียมงบประมาณไว้แต่แรก ผู้ที่คาดว่าจะเป็นผู้สนับสนุนหลักก็ถอนตัว ดร.ประสิทธิ์ ในฐานะประธานมูลนิธิ จึงมีความจำเป็นต้องรับอาสาเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการสนับสนุนการเข้าร่วมแข่งขันดังกล่าว ภารกิจนี้เป็นไปด้วยความยากลำบากมาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนั้น แต่ด้วยแรงสนับสนุนและความเชื่อมั่นจากทุกภาคที่มีต่อ ดร.ประสิทธิ์ ทำให้การระดมทุนดังกล่าวประสบความสำเร็จ ทันเวลาที่ต้องส่งเงินให้ประเทศเจ้าภาพในนาทีสุดท้าย ทำให้สามารถจัดส่งผู้เชี่ยวชาญและเยาวชนไทยในฐานะตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันฝีมือแรงงานเยาวชนนานาชาติประจำปี 2552 (World Skills Competition 2009) ณ กรุงแคลการี ประเทศแคนาดา ในระหว่างวันที่ 1 – 7 กันยายน 2552 โดยเข้าร่วมแข่งขัน 2 สาขา ได้แก่ สาขา IT/PC Network Support และ สาขา Telecom (Information Network Cabling) ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของประเทศไทยที่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมแข่งขันในเวทีระดับโลกในสาขาที่เกี่ยวกับโทรคมนาคมและไอซีที ดร.ประสิทธิ์ ได้รับเลือกเป็นผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยเข้าทำหน้าที่ออกข้อสอบและเป็นกรรมการตัดสินในการแข่งขันดังกล่าว ทางรัฐบาลเริ่มเห็นความสำคัญเช่นกันและได้ตั้งเงินรางวัลไว้ค่อนข้างสูงรวมถึงการพิจารณาขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้ในฐานะผู้ที่ทำชื่อเสียงให้ประเทศชาติถ้าสามารถนำเหรียญรางวัลกลับประเทศไทยได้ แต่ผู้เข้าแข่งขันก็ไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลกลับมาได้ เพราะมีความพร้อมน้อยกว่าประเทศคู่แข่งจากทั่วโลกที่มีประสบการณ์ในการแข่งขันในเวทีดังกล่าวมาหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์นี้ได้สร้างประสบการณ์และความภาคภูมิใจให้กับผู้เชี่ยวชาญและเยาวชนที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันเป็นอย่างมาก และเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ในนามประเทศไทยที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้าแข่งขันจากนานาประเทศทั่วโลกมีความประทับใจและยอมรับในศักยภาพของคนไทย
- มิติด้านกิจการโทรคมนาคม
ในปี พ.ศ. 2535 ดร.ประสิทธิ์ได้รับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ด้านสื่อสารโทรคมนาคม ด้วยวัยเพียง 30 ต้นๆ แต่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากแทบทุกวงการในระดับประเทศ ดร.ประสิทธิ์ได้มีบทบาทค่อนข้างโดดเด่นมาก เช่น ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะทำงานพัฒนาสื่อสารโทรคมนาคม เป็นกรรมการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของดาวเทียมและสถานีดาวเทียม (ดาวเทียมไทยคม 1,ดาวเทียมไทยคม 2, และ ดาวเทียมไทยคม 3) เป็นที่ปรึกษาด้านกิจการอวกาศ กระทรวงคมนาคม เป็นผู้ทำงานในคณะทำงานศึกษาและพิจารณา สัญญาร่วมงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ ( 2 ล้านเลขหมายสำหรับเขตโทรศัพท์นครหลวงและ 1 ล้านเลขหมาย สำหรับเขตโทรศัพท์ภูมิภาค) เป็นกรรมการพิจารณาข้อเสนอแนะการเพิ่มจำนวนผู้รับสัมปทานบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และเป็นผู้ทำงานในคณะทำงานพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะการเพิ่มจำนวนผู้รับสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น ในช่วงดังกล่าว ดร.ประสิทธิ์ เป็นผู้หนึ่งที่เสนอความคิดให้มีการก่อตั้งองค์กรอิสระเพื่อการดูแลกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยโดยเฉพาะเพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบต่างๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมประเทศที่พัฒนาแล้ว การดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่ายเพื่อบัญญัติไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศคือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ ต่อมามีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ องค์กรอิสระคือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติก็ได้รับการตราไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นผลสำเร็จ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 ดร.ประสิทธิ์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ วุฒิสภา และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการองค์กรอิสระ วุฒิสภา เป็นช่วงเวลาที่มีการก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติและสรรหาคณะกรรมการ ดร.ประสิทธิ์ เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าว
ใน ปี พ.ศ. 2547 หลังจากการมีสำนักงานและคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติอย่างเป็นทางการ ดร.ประสิทธิ์ ได้รับเลือกให้เป็นประธานอนุกรรมการยกร่างและกลั่นกรองแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมและรองประธานโครงการจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม แผนแม่บทดังกล่าวคือแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2548-2550 ซึ่งนับเป็นแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมในรูปแบบขององค์กรอิสระฉบับแรกของประเทศไทยและเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโทรคมนาคมอย่างเต็มรูปแบบและเป็นไปอย่างทั่วถึง ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์อย่างไม่เคยมีมาก่อน ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทยดังที่เขียนไว้ในแผนแม่บทให้ได้ปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
- มิติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยสมาชิกเป็นสมาคมวิชาชีพหลักของประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวน 28 สมาคม โดยมีนายกสมาคมแต่ละสมาคมเป็นกรรมการและทำการเลือกตั้งผู้นำสูงสุดในตำแหน่งประธานสภามนตรี
ในปี พ.ศ. 2548 ดร.ประสิทธิ์ ได้รับการเสนอชื่อและรับเลือกเป็นผู้นำสูงสุดของสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยดำรงตำแหน่ง ประธานสภามนตรี ต่อมาในปีพ.ศ. 2551 สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยได้ปรับข้อบังคับและปรับองค์กรโดยเปลี่ยนตำแหน่งผู้นำสูงสุดเป็นนายกสภาสมาคม ดร.ประสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อและรับเลือกเป็นนายกสภาสมาคมคนแรก ดร.ประสิทธิ์ เป็นผู้นำองค์กรดังกล่าวที่มีอายุน้อยที่สุดกล่าวคืออายุขึ้นต้นด้วยเลข 4 ปกติผู้นำสูงสุดมักจะมีอายุขึ้นต้นด้วยเลข 6 หรือเลข 7 เสมอ
ในฐานะผู้นำสูงสุดในตำแหน่งประธานสภามนตรีและนายกสภาสมาคม ได้สร้างผลงานอย่างมากมายเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศดังปรากฏในรายงานของการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2548 - พ.ศ. 2553 ในมิติต่างๆเช่น กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ด้วยการส่งเสริมการดำเนินงานของสมาคมหรือองค์กรเอกชนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสมาคมหรือองค์การเอกชนที่เป็นสมาชิก มีการประสานงานกับภาครัฐบาล รวมทั้งเสนอแนะรัฐบาลในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล การดำเนินงาน และการใช้ประโยชน์ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนส่งเสริมสถานภาพและสมรรถภาพทางวิชาชีพ และเป็นศูนย์กลางการติดต่อและประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสมาคมและองค์การเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดหางานวิจัย งานพัฒนา รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะแก่สถาบันต่างๆตามที่ระบุในข้อบังคับของสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
- มิติด้านสาธารณกุศล
ในปี พ.ศ. 2551 ดร.ประสิทธิ์ ได้รับการสรรหาให้เป็นประธานมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.) คนแรก ดร.ประสิทธิ์เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกองทุนเพื่อการกุศลสาธารณะ อาทิเช่น 1) กองทุนเพื่อการศึกษา 2) กองทุนเพื่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน 3) กองทุนมูลนิธิ มสวท.เพื่อวัดพระบาทน้ำพุ 4) กองทุนมูลนิธิ มสวท.เพื่อวัดตากฟ้าและ 5) กองทุนสาธารณกุศล โดยมีวัตถุประสงค์และวิธีดำเนินการของแต่ละกองทุนปรากฏในเอกสารและเว็บไซต์ของมูลนิธิ
- มิติด้านวิชาการ
ดร.ประสิทธิ์เป็นผู้เขียนตำราวิชาการด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมในแง่มุมต่างๆมากกว่า 20 เล่ม อาทิ เช่น การจัดการเทคโนโลยีโทรคมนาคม, ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม, การสื่อสารโทรคมนาคม, การสื่อสารดาวเทียม, เครือข่ายโทรคมนาคม เป็นต้น นอกจากนั้นยังเป็นผู้แปลตำราวิชาการของ McGraw-Hill จำนวน 3 เล่ม รวมถึงบทความวิชาการต่างๆจำนวนมาก
- มิติด้านวิจัย
ดร.ประสิทธิ์เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยหลายโครงการและเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยไฟฟ้าสื่อสาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงมีบทความวิจัยจำนวนมาก