ทำเนียบเกียรติยศ (Hall of Fame)
บุคคลคุณภาพแห่งปี 2010 ด้านเด็กและเยาวชน
ดร. สุธาสินี น้อยอินทร์ (อายุ 54 ปี)
(ประธานมูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน)
1. หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน
1. ประธานมูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน
2. ผู้จัดการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน
2. ประวัติการศึกษา
พ.ศ. 2536 ปริญญาตรีสาขา จิตวิทยาและการแนะแนว มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
พ.ศ. 2543 ปริญญาโทสาขาพัฒนาสังคม สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
พ.ศ. 2543 ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาพัฒนาสังคม จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
3. นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน
การศึกษาสอนให้ออกไปรับใช้ผู้อื่นที่ยากลำบากกว่า และต้องกตัญญูต่อผู้มีคุณต่อชาติ ต่อแผ่นดิน รู้จักคำว่า “พอ”
4.ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน
ความสำเร็จของชีวิต คือการทำให้คนอื่นพ้นทุกข์ แก้ปัญหาของตนเองได้ด้วยตนเอง
5. รางวัลเกียรติยศหรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์
1. โล่ประกาศเกียรติคุณ คนดี ประเทศไทย ภาคประชาชน ในโครงการคนดี ประเทศไทย เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551 จากสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย
2. เกียรติบัตร องค์กรแผนที่ความดี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2551 จากจังหวัดอุบลราชธานี
3. ใบประกาศเกียรติคุณ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2551 จากสมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคใต้
4. Recognition of Innovative Contribution to the Public Sector, June 1977, Ashoka Innovators for the Public.
6. ประวัติส่วนตัวและประวัติการทำงาน
- กิจกรรมสนามหลวง
- ครูอาสาโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก กาญจนบุรี
- อาสาพัฒนาชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง จ.แม่ฮ่องสอน
- เจ้าหน้าที่สนามมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม คลองเตย
- อาสาสมัครงานสมุนไพรสู่เยาวชน ร.พ. กุดชุม
- เปิดบ้านรองรับ เด็ก – เยาวชน ที่ประสบวิกฤตชีวิต มูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน
7. ผลงานคุณภาพดีเด่น
คุณสุธาสินี น้อยอินทร์ หรือ ครูติ๋ว เป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคมคนสำคัญของเมืองไทย ขณะที่กำลังศึกษาที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพทุ่งมหาเมฆ ยังไม่จบปริญญาตรี ได้ทำกิจกรรมนักศึกษาสนามหลวง พ.ศ. 2519 หลังจากจบการศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพทุ่งมหาเมฆ ในปี พ.ศ. 2524 ได้ทำงานเป็นอาสาพัฒนาชาวไทยภูเขาเผ่าปลาเกอยอ และม้ง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในปี พ.ศ. 2526 – 2527 เป็นครูอาสาโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก (ซัมเมอร์ฮิล) อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ในปี พ.ศ. 2527 ได้อาสาทำงานพัฒนาชุมชนภูเขาแม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ในปี พ.ศ. 2529 – 2530 เป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในปี พ.ศ. 2530 – 2532 เป็นเจ้าหน้าที่สมุนไพร โรงพยาบาลกุดชุม จ.ยโสธร ในปี พ.ศ. 2530 ได้ก่อตั้งมูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน จังหวัดยโสธร “ครูติ๋ว” เรียนรู้ตลอดเวลาทั้งในและนอกระบบ สำเร็จการศึกษาด้านจิตวิทยาและการแนะแนว จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในปี พ.ศ. 2536 ในภาคสมทบเพราะขณะนั้นได้ทำการช่วยเหลือ เด็ก เยาวชน ที่มีปัญหายาเสพติด ด้วยกระบวนการทางจิตวิทยา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านการพัฒนาสังคม จากสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในปี พ.ศ. 2543
งานอันเป็นวิถีชีวิตที่ยิ่งใหญ่ของ “ครูติ๋ว” คือ การก่อตั้ง มูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน หรือ ที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “บ้านโฮมฮัก” เริ่มดำเนินกิจกรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เป็นงานด้านยาเสพติดในชุมชน จากนั้นก่อตั้งเป็น มูลนิธิเมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยมองว่า “เด็ก” คือความน่ารักสดใส บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา “ปัญหา” ที่จะเกิดขึ้นกับเด็กแต่ละคน ไม่ได้อยู่ที่ชาติกำเนิดหรือฐานะว่าจะเป็นเด็กในเมืองหรือชนบท แต่ขึ้นอยู่กับ “คน” หรือ “ผู้ดูแล” ที่จะให้ความรัก เสริมความมั่นใจและให้ความอบอุ่นแก่เด็กวัยทารกไปจนถึงเด็กปฐมวัย ที่ไม่สามารถเลือกและตัดสินใจเองได้ เมื่อเด็กทารกและเด็กปฐมวัย หรือเด็กวัยตอนต้น ไม่ได้รับความรักที่สอดคล้อง จะขาดความมั่นใจ และไม่รู้คุณค่าของชีวิต เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เขามีโอกาสเลือก เขาจะท้าทาย ลองรู้ แสวงหาอะไรที่ขาดหายไปในวัยเด็ก เขาจะชดเชย โดยการสร้างพฤติกรรมเรียนรู้ ที่ให้ความสุขต่อจิตใจตนเอง โดยขาดความตระหนักต่อผลกระทบ ที่จะส่งผลกับครอบครัว ชุมชนและสังคม
ท่าน! คือ “ตัวแบบ” ที่สำคัญที่จะพัฒนาเยาวชนของประเทศชาติ ให้เติบโตอย่างสดใส จิตใจเข้มแข็ง
ท่าน! ต้องการให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพสังคมเช่นไร
ท่าน! จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติต่อเขา ให้เขาเอาแบบอย่างที่ท่านปฏิบัติต่อเขาใน “วันวาน” ที่ผ่านมา
ความคิดดังกล่าวนำมาซึ่ง วัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ คือ (1) รณรงค์เผยแพร่ความรู้ เพื่อป้องกันและลดปัญหาด้านสุขภาพอนามัย และปัญหาสังคมในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน (2) ให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ส่งเสริม ด้านสวัสดิภาพและสวัสดิการทางด้านร่างกายและจิตใจ ของเด็กและเยาวชน และครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกิดปัญหาสุขภาพอนามัย หรือที่ตกเป็นเยื่อยาเสพติด เอดส์ การล่วงละเมิดทางเพศ หรือปัญหาสังคมอื่นๆ (3) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและอาชีพแก่เด็กและเยาวชน เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม และ (4) ร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และพัฒนาอาสาสมัครให้มีส่วนร่วมในการป้องกันแก้ไขปัญหาสังคม
มูลนิธิดำเนินงานใน 4 ส่วน คือ (1) งานชุมชน ติดตามเฝ้าระวังเด็ก เยาวชน และผู้ประสบปัญหาวิกฤติชีวิต ในประเด็นปัญหาและผลกระทบที่หลากหลาย ทำงานร่วมกับชุมชน ใช้กระบวนการแบบส่วนร่วมในการจัดเก็บข้อมูล ข้อเท็จจริง เพื่อสรุปบทเรียนเป็นองค์ความรู้ นำไปสู่การผลักดันนโยบาย เป็นการเปิดทางเลือก ในการป้องและแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องเหมาะสมกับชุมชน (2) งานโรงเรียน เป็นงานเชิงรุกเข้าไปในระบบการศึกษาเพื่อลดช่องว่าง ลดความขัดแย้ง เสริมความรู้ ความเข้าใจ โดยใช้รูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย และให้ความช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพ ปัญหาครอบครัว และปัญหาอื่นๆ (3) งานเอดส์ เป็นงานที่ป้องกันและแก้ไขปัญหา มุ่งเน้นเรื่อง “ความรักและความรับผิดชอบ” โดยรูปแบบการทำงานจะหลากหลาย ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหา ที่มา และอนาคตของแต่ละครอบครัว ชุมชน สังคม และความต้องการความช่วยเหลือของผู้ที่ได้รับผลกระทบแต่ละคน จึงยึดหลัก “ความรักความเข้าใจ” ในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ (4) งานบ้านพัก (บ้านโฮมฮัก) เปิดเป็นบ้านพักรองรับเด็กที่อยู่ในภาวะวิกฤติชีวิต ในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต โดยอยู่ร่วมกันในรูปแบบของครอบครัวใหญ่ ที่มีการดูแลซึ่งกันและกัน โดยใช้ “ความรัก ความเข้าใจ การให้อภัย และการให้โอกาส” เท่าเทียมกัน เป็นแนวปฏิบัติในการอยู่ร่วมกัน
แต่เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงของโรคเอดส์ในสังคมไทยที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในจังหวัดยโสธรเอง ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์เพิ่มขึ้นทุกวัน ส่งผลให้พ่อแม่ที่ติดเชื้อนำลูกมาฝากไว้ที่บ้านโฮมฮักมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จนภายหลังครูติ๋วไม่สามารถดำเนินงานในด้านอื่นๆ ได้อีก เหลือเพียงการดูแลเด็กในบ้านโฮมฮักอย่างเดียวเท่านั้น และในปี พ.ศ. 2538 ครูติ๋วก็ได้ย้ายบ้านโฮมฮักมาอยู่ที่อำเภอเมืองจังหวัดยโสธร จนกระทั่งปัจจุบัน
วันนี้บ้านโฮมฮักมีเด็กอยู่ในความดูแลถึง 112 คน มีตั้งแต่เด็กเล็กอายุเพียงไม่กี่เดือน ไปจนถึงเด็กโตในระดับมหาวิทยาลัย เด็กทั้งหมดกำพร้าพ่อแม่ ซึ่งถูกโรคเอดส์คร่าชีวิตไปก่อนวัยอันควร ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ซึ่งมีอยู่เพียง 17 คน กลายเป็นพ่อและแม่ของเด็กไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม กำลังสำคัญของบ้านโฮมฮักอย่างครูติ๋ว หรือแม่ติ๋วของเด็กๆในวันนี้ กลับป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และต้องหยุดพักรักษาตัวอยู่เป็นระยะๆ ขณะที่ทรัพย์สินเงินทอง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถ ที่ดิน หรือมรดกของพ่อแม่ ครูติ๋วก็ได้ขายทิ้งทั้งหมดเพื่อนำมาเป็นค่ายา ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเทอมของเด็กๆ ซึ่งรวมกันแล้วสูงถึงเดือนละ 5 แสนบาทเลยทีเดียว ขณะที่เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ก็มีเพียงค่าตอบแทนที่ไม่ได้มากมายอะไร แลกกับการทำงานและกินอยู่ที่บ้านโฮมฮัก เพื่อดูแลเด็กๆ แทบจะตลอด 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว
สำหรับบ้านโฮมฮักแห่งนี้ ไม่มีองค์กรใดๆ สนับสนุนเป็นหลัก แต่ดำเนินงานภายใต้การสนับสนุนของผู้บริจาคทั่วไปเท่านั้น